เพื่อส่งเสริมการบุกเบิกลุ่มแม่น้ำโขง และพัฒนาความร่วมมือแบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ จีนมีท่าทีทางบวกมาโดยตลอดในการสร้างเส้นทางรถไฟสายแพนเอเชีย เมื่อปี 2010 จีนก็เริ่มมีความร่วมมือกับไทย ลาว และประเทศอาเซียนอื่นๆ ตามแผนการที่กำหนดไว้ จะสร้างเส้นทางรถไฟดังกล่าวแล้วเสร็จในปี 2025 หลังจากผู้นำจีนไปเยือนประเทศอาเซียนมา เวลากำหนดนี้อาจจะเลื่อนเร็วขึ้นเป็นปี 2020 หรือก่อนปี 2020 ก็ได้ การสร้างรถไฟความเร็วสูงมีผลประโยชน์และความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทั้งจีนและอาเซียน
ประการแรก รถไฟความเร็วสูงเหมาะกับแนวโน้มการพัฒนาของยุคสมัย และจะนำมาซึ่งโอกาสการพัฒนาแก่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอาเซียนให้ความสำคัญอย่างมากในการเชื่อมต่อกัน โดยเมื่อปี 2010 ก็ได้ผ่านแผนการสร้างการติดต่อและเชื่อมโยงกันของอาเซียน เมื่อเส้นทางรถไฟจีน-อาเซียนถูกสร้างแล้วเสร็จ จีน ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ติดกันนั้น จะมีเครือข่ายการคมนาคมที่ทันสมัยเพื่อขนส่งผู้คนและสินค้า
ประการที่สอง ความร่วมมือแบบสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีนกับอาเซียนเป็นรูปแบบใหม่ด้านความร่วมมือแบบเอื้อประโยชน์แก่กัน ในระหว่างการเยือนไทยของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน สองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกช่วยจำว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลด้านการสร้างเส้นทางรถไฟในไทยและการแลกเปลี่ยนผลิตผลการเกษตรกับไทย นับเป็นรูปแบบใหม่ด้านความร่วมมือที่จะเอื้อประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย
ประการที่สาม รถไฟความเร็วสูงจีน-อาเซียนส่งเสริมให้ความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับอาเซียนเข้าสู่ยุคใหม่ ปีนี้เป็นการครบรอบ 10 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับอาเซียน ตั้งแต่ปี 2002-2012 ยอดการค้าทวิภาคีระหว่างสองฝ่ายเพิ่มขึ้น 23.6% เฉลี่ยต่อปี โดยปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 400,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จีนกลายเป็นประเทศหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน ส่วนอาเซียนเป็นหุ้นส่วนทางการค้าใหญ่อันดับที่ 3 ของจีน เครือข่ายเส้นทางรถไฟจีน-อาเซียนจะทำให้ประเทศอาเซียนได้ผลประโยชน์มากขึ้นจากการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของส่วนภูมิภาค และการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
Yim/Ldan