ในยุคที่โลกเชื่อมโยงการได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร การเดินทางระหว่างประเทศไม่ได้เป็นเรื่องยากลำบากอีกต่อไป ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับภาษาต่างประเทศจึงสำคัญและจำเป็นมากในการติดต่อระดับนานาชาติ
จีนมีสถาบันที่สอนเกี่ยวกับภาษาต่างประเทศหลายแห่ง
มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง หรือ เป่ยว่าย (Beijing Foreign Studies University ) เป็นมหาวิทยาลัยสอนภาษาที่เก่าแก่ของจีนก่อตั้งมาตั้งแต่ปี คศ.1941 อายุกว่า 70 ปีแล้ว เป็นมหาวิทยาลัยสอนภาษาแห่งแรกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ และมีการสอนในภาษาต่างๆมากที่สุดถึง 54 ภาษา มีจำนวน 56 โปรแกรม ทั้งในระดับ ปริญญาตรี โท และเอก เดิมเป็นสถาบันที่ผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา การแปลและล่าม ให้กับหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สถานีวิทยุซีอาร์ไอและองค์กรที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับการติดต่อต่างประเทศ รวมทั้งมีผู้ไปทำงานกับหน่วยงานเอกชนด้วย ต่อมาได้ขยายเนื้อหาของหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอนด้านอื่นๆ ที่หลากหลายขึ้นด้วย อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น
แต่ละปีนอกเหนือจากนักศึกษาจีนแล้วมีนักศึกต่างชาตินับพันคนจาก 60 ประเทศทั่วโลกมาเรียนที่นี่ อีกทั้งมีโครงการขยายความร่วมมือไปสอนภาษาจีนในต่างประเทศด้วย
นอกจากจะสอนนักศึกษาจีนให้รู้ภาษาต่างประเทศแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำและสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติมากถึง 380 แห่ง อาทิ ญี่ปุ่น 12 แห่ง ฝรั่งเศส 10 แห่ง เยอรมันและอังกฤษประเทศละ 9 แห่ง รัสเซีย 5 แห่ง ส่วนประเทศไทย มีความร่วมมือกับ 5 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ผศ. เกื้อพันธ์ นาคบุปผา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ซึ่งได้ร่วมโครงการแลกเปลี่ยนวิชาการระหว่างสถาบัน มาทำหน้าที่เป็นผู้สอนเกี่ยวกับภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยเป่ยว่าย เล่าให้ฟังเกี่ยวกับความร่วมมือว่า เริ่มจากการที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ได้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระพี่นางฯ แล้วพบว่าล่ามที่ทางการจีนจัดเตรียมให้กับคณะเก่งมาก เรียนมาจากมหาวิทยาลัยเป่ยว่าย จึงสนใจการเรียนการสอนของที่นี่ว่าทำอย่างไรที่จะผลิตบุคลากรที่มีความรู้ด้านภาษาไทยได้อย่างดีทั้งๆที่ อาจารย์และผู้เรียนก็เป็นคนจีน จึงได้ติดต่อขอมาดูงานและเชื่อมความร่วมมือกันเป็นโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษา มีสัญญาแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ 2534 โดยอาจารย์ที่สถาบันสลับกันมาสอนคนละหนึ่งเทอม หมุนเวียนกัน
ผศ. เกื้อพันธ์ นาคบุปผา
ผศ. เกื้อพันธ์ เล่าให้ฟังว่าสำหรับการสอนนักศึกษาจีนที่มหาวิทยาลัยเป่ยว่าย แรกๆอาจารย์ไทยจะเป็นผู้สอนเสริมเนื่องจากข้อจำกัดด้านภาษาจีน แต่ก็มีงานด้านอื่นๆด้วย เช่น การปรับปรุงแบบเรียนให้ทันสมัยและเหมาะสม งานแก้ไขงานแปลหนังสือจีนเป็นภาษาไทย และการสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและโท เป็นต้น
"หลักๆคือ สอนเด็กปีหนึ่ง สองชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับการออกเสียงภาษาไทย แต่จำนวนเวลาไม่เพียงพอ สำหรับการสอนการออกเสียง อักขระ เรียนรู้คำใหม่และการฝึกแต่งประโยค ดังนั้นจึงต้องสอนเสริม นอกเวลาเรียน วันละ 1-2 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ให้มาเรียนที่บ้านของครู เพราะการเรียนรู้ภาษาไทย แตกต่างจากภาษาจีน ทั้ง วรรณยุกต์ สระเสียงสั้นยาว ความหมายแตกต่างกัน ภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาหลักของเด็กจีน เขาก็ต้องใช้เวลาฝึกฝนเพิ่มขึ้น เหมือนกับเด็กไทยเรียนภาษาจีนหรือภาษาต่างประเทศอื่นๆเช่นกัน เราตั้งใจอยากทำให้ดี ให้เด็กได้เรียนรู้จริง ก็ต้องทำ ถ้าสอนไม่ดีก็เสียชื่อ"
เวลาที่จัดสอนเพิ่มเป็นพิเศษให้กับเด็กนักศึกษานั้นอยู่นอกการเรียนการสอนปกติ และไม่นับเป็นภาระงานของมหาวิทยาลัย แต่ ผศ.เกื้อพันธ์ บอกว่า ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ ที่สอนเพิ่มให้เพื่อต้องการให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น
ผศ.เกื้อพันธ์ เดินทางมาเมืองจีนในโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดอยู่นานถึง 8 ปีแล้ว (หลังจากเกษียณที่เมืองไทย) อาจารย์ได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงพัฒนาการ การเรียนรู้ของเด็กจีนสมัยก่อน กับยุคนี้ว่าแตกต่างกัน เนื่องจากในอดีต เด็กมีสิ่งเร้าภายนอกและสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น มือถือ อินเตอร์เนตหรือเกม น้อยกว่าสมัยนี้มาก แต่มีสิ่งหนึ่งไม่เปลี่ยนนั่นคือความมุ่งมั่นตั้งใจกับการเรียน เนื่องจาก กลุ่มที่สามารถผ่านเข้ามาสู่มหาวิทยาลัยได้จะเป็นผู้ที่มีความขยันและต้องสอบแข่งขันกับคนอื่นๆ ผ่านกระบวนการคัดเลือกมาแล้ว
"ยุคโน้น เด็กทุกคนจะมีพจนานุกรมประจำโต๊ะ เมื่อรู้คำใหม่ มือซ้ายก็จะเปิดพจนานุกรม มือขวาจดทันที และขยันฝึกฝนมาก ไม่รู้เรื่องอะไรก็จะถาม แต่ก็จะมีบุคลิกอยู่อย่างที่พบมากคือ เด็กไม่ชอบทำงานเป็นกลุ่มๆ และแข่งขันกันเองสูงมาก พอมีคำถาม จะไม่ถามในห้องแต่ออกมาถามข้างนอกห้องเป็นส่วนตัวคนเดียว ....แม้เด็กยุคใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งสิ่งแวดล้อม แฟชั่น การแต่งกาย มีปัญหาเด็กติดเกมบ้าง แต่เด็กส่วนใหญ่ก็ยังคงมีความตั้งใจ ที่จะเรียนรู้อยู่มาก เด็กจะมีเป้าหมายว่าเขาตั้งใจจะทำอะไร มีความคิดเป็นของตัวเอง และมุ่งมั่นทำให้ประสบความสำเร็จ"
ตอนนี้มีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปคือ นักศึกษาเมื่อเรียนจบปริญญาตรีแล้ว สนใจที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาโทเพิ่มขึ้น
อาจเนื่องจากต้องการเพิ่มความรู้ในด้านอื่นๆ นอกจากความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาษา เพื่อจะได้มีโอกาสในการหางานด้านอื่นเพิ่มเติมจากงานแปลและงานด้านภาษาเท่านั้น อีกทั้งมีปัจจัยเรื่องครอบครัว ปัจจุบันคนจีนมีฐานะดีขึ้นมากพ่อแม่มีความสามารถส่งเสีย ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนได้ หลายคนก็เดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ ผศ.เกื้อพันธ์เล่าว่ารุ่นที่แล้วเรียนจบปริญญาตรี 17 คน เรียนต่อ มากถึง 8 คน โดยในจำนวนนี้ก็มีที่ไปเรียนต่อในสาขาอื่นๆที่ไม่ใช่ด้านภาษาไทย ซึ่งต้องชื่นชมเพราะต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นในการเรียนพิเศษ ให้สามารถสอบเข้าเรียนต่อในสาขานั้นๆได้
การเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยของที่นี่แตกต่างจากในเมืองไทย เพราะช่วงสามปีแรก อาจารย์ยังเข้มงวดกับการเข้าห้องเรียน ห้ามสาย ขาด เหมือนเด็กระดับมัธยม แต่จะผ่อนปรน มากขึ้นเมื่ออยู่ ปี 4 เพราะเป็นช่วงที่นักศึกษาต้องออกไปหางาน แต่เด็กก็จะไม่ทิ้งการเรียน จะติดตามถามจากเพื่อนและอาจารย์ว่าเรียนคืบหน้าไปถึงไหน จะใส่ใจเรียนรู้ อาจเป็นเพราะเขารู้เป้าหมายว่า เมื่อจบแล้วต้องได้งานทำ และต้องได้งานที่ดี ก็จะมีความตั้งใจและมุ่งมั่นเป็นพิเศษ ในขณะที่เมืองไทย เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยก็จะไม่เคร่งครัดเรื่องเวลาเรียนมาก แล้วแต่อาจารย์ผู้สอนแต่ละคนจะมีแนวทางอย่างไร เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เรียน
อาจารย์เกื้อพันธ์ปิดท้ายว่า การใฝ่ใจเรียนรู้ทั้งของนักศึกษาไทยและจีน ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่แต่ในสังคมจีน การแข่งขันสูงมากกว่า ทำให้พวกเขาต้องขยันเพิ่มมากขึ้นด้วย เขาก็คงกลัวว่าตัวเองจะตกงาน เพราะเมื่อจบออกไป การแข่งขันก็จะสูงมากเช่นกัน
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง
ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเป่ยว่ายที่ http://en.bfsu.edu.cn