ทุกวันนี้ ความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนแน่นแฟ้นมากขึ้น โครงการดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วของจีนที่ครอบคลุมประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางขึ้นด้วย
หลังจากที่ลาว และบรูไนตกลงเบื้องต้นจะใช้ระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วของจีนแล้ว เดือนเมษายนที่ผ่านมา สถาบันวิจัยสองแห่งในมณฑลหูเป่ยของจีนก็ได้ลงนามกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)ของไทย โดยจะจัดตั้งระบบให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ (Geospatial) การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ด้านข้อมูลสารสนเทศในประเทศไทย คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 2,000 ล้านหยวน ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2014 ระบบนี้จะใช้งานเกี่ยวกับการคมนาคมทางทะเล ทางบก การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การเกษตร พลังงานไฟฟ้า และสิ่งแวดล้อม
ตั้งแต่ปี 1964 เป็นต้นมา เทคโนโลยี GPS ของสหรัฐฯเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันทั่วโลก ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ซึ่งรวมถึงประเทศจีนมีค่าใช้จ่ายสูงเพื่อใช้บริการ GPS เนื่องจากยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงพอ อีกทั้งประเทศที่ใช้บริการต้องยอมรับเงื่อนไขพ่วงท้ายจำนวนมาก การมีระบบนำร่องหลายระบบให้เลือกจึงจะลดความเสี่ยงได้ ดังนั้นจีนจึงพยายามพัฒนาระบบนำร่องของประเทศกำลังพัฒนาเอง ขณะนี้ ระบบดาวเทียมเป่ยโต่วได้ส่งดาวเทียมนำร่อง 16 ดวง และสร้างเครือข่ายในภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว โดยจะครอบคลุมเอเชียแปซิฟิกซึ่งรวมถึงประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เมื่อถึงปี 2020 จีนจะมีดาวเทียมเป่ยโต่ว 30 ดวง สร้างระบบนำร่องดาวเทียมเป่ยโต่วที่ครอบคลุมทั่วโลก