楹联书法
|
กรุงเทพ – 18มกราคม 2557 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองตรุษจีนปี 2014 ที่กำลังจะมาถึง และเพื่อการเพิ่มพูนความสัมพันธ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของจีน พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ ประเทศจีน, กระทรวงวัฒนธรรมจีน ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯ จัดนิทรรศการการเขียนกลอนคู่ด้วยพู่กันจีนขึ้น ณ. ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯ
งานนี้ได้รับเกียรติจากมาดามชู ชิ่งหลิง ภริยาเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, นายเฉินเจียง ที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน, นายดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมศิลปากร, ผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรมจีน, และผู้สนใจทั้งจีนและไทยเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีศิลปินพู่กันจีนมาสาธิตการเขียนกลอนคู่และมอบผลงานเป็นของขวัญตรุษจีนแก่ผู้ที่มาร่วมงาน
ไทยและจีนมีความสัมพันธ์กันทั้งในด้านภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์เชิงประเทศพี่น้องส่วนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมมีบทบาทและเป็นรากฐานที่สำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นิทรรศการฯครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตรุษจีนหรรษาที่จัดขึ้นในต่างประเทศโดยกระทรวงวัฒนธรรมจีน
การเขียนกลอนคู่ด้วยพู่กันจีนเป็นศิลปะที่สืบทอดกันมาแต่โบราณที่มีเอกลักษณ์มากที่สุดอย่างหนึ่งของจีน ปีค.ศ.2009 องค์การยูเนสโกได้จัดกิจกรรมศิลปะพู่กันจีนไว้ในบัญชีผลงานมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุที่มีตัวตน โดยได้รับการรับรู้และยอมรับจากทั่วโลก วรรณคดีกลอนคู่ก็เป็นศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ เนื่องจากเป็นการผสมผสานระหว่างวรรณคดีและศิลปะการเขียนพู่กันอย่างมีมิติและลงตัว
สำหรับการเขียนและติดกลอนคู่เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นิยมทำในช่วงตรุษจีน เป็นกิจกรรมที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก และถือเป็นการต้อนรับสิ่งใหม่ๆที่ดีๆเข้ามาในชีวิต หยิงเหลียนหรือที่รู้จักกันในชื่อตุ้ยเหลียน (ตุ่ยเลี้ยง –แต้จิ๋ว) เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีน เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่รุ่งเรืองที่สุดในยุคราชวงศ์ชิง ตามประเพณีแล้วเมื่อถึงวันปีใหม่หรือตรุษจีนจะต้องเปลี่ยนชุดใหม่เพื่อความเป็นศิริมงคล คนจีนนิยมติดตุ้ยเหลียนไว้ที่ทางเข้าบ้าน , ประตูหน้าต่างหรือกลางโถงรับแขก โดยกลอนทั้งสองข้างต้องสัมผัสกันและติดขนานกันเป็นคู่ คนไทยเชื้อสายจีนบางบ้านนิยมติดกลอนข้างละ 4 อักษร คู่หนึ่งรวมกันเป็น 8 อักษร แปดหรือปาในภาษาจีนเป็นเลขมงคล พ้องกับคำว่า "ฟา"คือความเจริญรุ่งเรืองร่ำรวยเงินทอง นอกจากใช้ในช่วงตรุษจีนแล้ว ตุ้ยเหลียนยังสามารถใช้ในโอกาสต่างๆ เช่น งานแซยิด, วันเกิด. มงคลสมรสหรือแม้แต่งานศพได้อีกด้วย
นายเฉินเจียง ที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดเผยว่าผลงานที่นำมาแสดงทั้ง 46 ชิ้นในครั้งนี้นำมาจากพิพิธภัณฑ์แห่งศิลปกรรมของประเทศจีน นับได้ว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพชั้นสูง มีคุณค่ามากในแง่ศิลปะ และเชิญชวนให้ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการชม"กลอนคู่"มาก่อน ได้ลองเปิดใจสัมผัสกับศิลปะที่สืบทอดมาแต่โบราณกาลของจีน กลอนคู่ของจีนมีเสน่ห์และน่าสนใจ ในแต่ละตัวอักษรมีความหมายที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ สัมผัสอันไพเราะ และลักษณะลายเส้นของตัวอักษรเป็นการผสมผสานระหว่างความงดงามของทักษะการเขียนพู่กันจีนและความไพเราะของการแต่งกลอน
งานนิทรรศการฯนี้จะจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 23 มกราคมศกนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿