สำนักข่าวซีอาร์ไอรายงานว่า การชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยยืดเยื้อมานานถึง 3 เดือนแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม ปี ค.ศ. 2013 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวและด้านอื่น ๆ อย่างมาก ทำให้ภาคธุรกิจเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินและใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นอีกครั้ง
รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้นานาชาติมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากยิ่งขึ้น กว่า 40 ประเทศออกประกาศเตือนผู้ที่จะเดินทางไปเมืองไทยให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ส่วนฮ่องกงได้ยกระดับการเตือนสูงสุดเป็นสีดำ บางประเทศแนะนำให้พลเมืองเดินทางออกจากประเทศไทย จะเห็นได้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมอยู่แล้ว ยิ่งมีสถานการณ์เลวร้ายลงมากขึ้น
นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า อันที่จริงการประท้วงในขณะนี้ ชาวไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยแล้ว เพราะการชุมนุมในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ได้ตึงเครียดมากเหมือนภาพที่สังคมภายนอกเข้าใจ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศใช้ต่างหาก ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความหวาดกลัวและกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างยิ่ง จึงส่งผลกระทบที่ร้ายแรงมากต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยโดยเร็ว
ด้านนาย สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทยกล่าวว่า เดือนมกราคมปีนี้ อัตราการเข้าพักโรงแรมกรุงเทพ ฯ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 20% หากสถานการณ์ยังคงเคลื่อนไหวเช่นนี้ จะส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้นต่อไป
ธุรกิจร้านอาหารก็เป็นหนึ่งในกิจการที่กระทบเช่นกัน นาย ซั่ง เหยียนหมิง ผู้จัดการร้านอาหารจีนในกรุงเทพฯกล่าวว่า การชุมนุมในช่วงนี้และการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้รายได้ของร้านลดลงกว่าเดิมมาก ยิ่งกว่าการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อปีค.ศ. 2010 เขาหวังว่าสถานการณ์ที่วุ่นวายนี้จะยุติโดยเร็วที่สุด เพราะไม่เช่นนั้น ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวจะไม่เดินทางมาแต่ความเชื่อมั่นด้านการบริโภคของชาวไทยเองก็จะหายไปด้วย จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ในที่สุด
Nune/Zi