เมื่อเร็วๆ นี้ ปัญหามลพิษจากหมอกควันไฟป่าที่จังหวัด ริ – อาว (Riau) ของอินโดนีเซียร้ายแรงยิ่งขึ้น มีจุดไฟเผาป่าเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องเลื่อนการเดินทางหลายเที่ยวบิน โรงเรียนต่างๆ ต้องหยุดการเรียนการสอน
มีชาวบ้านในหลายประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนไม่น้อยที่นิยมเผาป่าเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร แล้วใช้เศษซากของพืชที่ถูกเผานั้น เป็นปุ๋ยธรรมชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ ชาวนาส่วนหนึ่งของจังหวัด ริ – อาว จังหวัด กาลิมันตันตะวันตกและกาลิมันตันกลาง ยังคงใช้วิธีนี้ในการบุกเบิกที่ดินทำนา จนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถานการณ์ไฟป่าทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น บนเกาะสุมาตราเกิดไฟป่า 281 แห่ง ในจำนวนนี้ มี 256 แห่งเกิดขึ้นในจังหวัด ริ – อาว เพิ่มมากขึ้น 126 แห่งเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้
หน่วยงานพยากรณ์อากาศท้องถิ่นคาดว่า สัปดาห์หน้ายังคงอาจมีสถานการณ์ ไฟป่าต่อเนื่อง เนื่องจากมีฝนตกน้อยมาก
ปัจจุบัน ปัญหามลพิษจากหมอกควันไฟป่าทำให้จังหวัด ริ – อาว มีผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบฉุกเฉินจำนวน 14,000 คน นอกจากนั้น ยังมีผู้ป่วยโรคอื่นๆ อาทิ ปอดอักเสบ หอบหืด โรคตาและโรคผิวหนังเพิ่มมากขึ้น
หมอกควันยังส่งผลกระทบกับสนามบินนานาชาติเปกันบารู(Pekanbaru) ทำให้เที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศหลายเที่ยวต้องล่าช้าออกไป อีกทั้งโรงเรียนในท้องถิ่นหลายๆ แห่งก็ประกาศหยุดการเรียนการสอนชั่วคราวเนื่องจากคุณภาพอากาศไม่ดี
เมื่อปี 1999 (พ.ศ.2542) รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎหมายห้ามเผาป่าพรุ แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ดีมากเพียงพอ เพราะการเผาป่าเป็นต้นทุนต่ำสุดในการบุกเบิกที่ดินเพื่อทำเกษตร จึงมีเกษตรกรจำนวนมากในอินโดนีเซียนิยมใช้วิธีดังกล่าว
เพื่อรับมือกับปัญหามลพิษที่ลุกลามสู่หลายประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนและไทยได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรี เพื่อหารือร่วมแก้ไขปัญหาหมอกควัน ในที่ประชุม อินโดนีเซียรับปากไว้ว่า ครึ่งแรกปีนี้ จะพยายามขอให้รัฐสภาฯให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาว่าด้วยหมอกควันข้ามชาติ ซึ่งได้ผ่านการรับรองจากกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อปี 2002 (พ.ศ.2545)
ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังไม่ยอมรับสนธิสัญญาฉบับนี้
(Nune/Lin)