เพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ กรุงปักกิ่ง นครเทียนจินและมณฑลเหอเป่ยใช้มาตรการสำคัญต่างๆ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งประกาศเตือนภัยสีส้ม หยุดการสร้างและการรื้อถอนอาคาร ห้ามการเดินรถที่ขนส่งหินและทราย ซึ่งเกิดฝุ่นง่าย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องหยุดทำงานหรือลดการก่อมลพิษในการผลิตอย่างน้อย 30% เป็นต้น จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งมีธุรกิจ 111 แห่งหยุดผลิตหรือลดการผลิต
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมืองสือเจียจวง ของมณฑลเหอเป่ยก็มีธุรกิจอุตสาหกรรมเคมีและธุรกิจพิมพ์ลายและย้อมสีหยุดหรือลดการผลิต ในขณะเดียวกัน นครเทียนจินก็ใช้มาตรการต่อต้านการก่อหมอกและควันเช่นเดียวกัน อาทิ ส่งเสริมการล้างถนน หยุดการสร้างอาคาร เป็นต้น แต่มาตรการควบคุมที่เร่งด่วนไม่สามารถเห็นผลอย่างทันที
อันที่จริง ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีจีนประกาศ "ข้อปฏิบัติ 10 ประการเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ" ตั้งแต่นั้นมา พื้นที่ต่างๆ ของจีนก็ได้ใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อแก้ไขมลภาวะทางอากาศ โดยควบคุมการใช้ถ่านหิน ควบคุมรถยนต์และลดฝุ่น นายจาง กง รองเทศมนตรีกรุงปักกิ่ง นายหยิน ไห่หลิน รองเทศมนตรีนครเทียนจินและนายจาง เจี๋ยฮุย รองผู้ว่าราชการมณฑลเหอเป่ย เห็นตรงกันว่า การแก้ไขมลภาวะทางอากาศต้องการเวลาอย่างน้อย 5-10 ปี จึงจะเห็นผลอย่างชัดเจนได้
นายเฝิง หยินฉ่าง ศาสตราจารย์สถาบันวิทยาศาสตร์และโครงการทางสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยหนานไค ก็มีความเห็นในทางเดียวกัน โดยระบุว่า การแก้ไขมลภาวะทางอากาศไม่สามารถเห็นผลอย่างทันที ผู้รับผิดชอบและประชาชนต้องมีความอดทนที่เพียงพอ มลภาวะทางอากาศเป็นปัญหาระยะยาว จึงไม่สามารถแก้ไขอย่างเต็มที่ได้ด้วยมาตรการระยะสั้นหรือความพยายามเพียงหนึ่งถึงสองปี
หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ สภาพอากาศจะยังไม่ดีเหมือนเดิม ซึ่งหมอกและควันอาจจะค่อยๆ จางหายไปเรื่อยๆ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้
Yim/Chu