เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ได้จัดงานเพื่อมอบรางวัล สุรินทราชา ให้กับนักแปลและล่ามดีเด่นประจำปีพ.ศ. 2557 โดยหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลปีนี้คือ คุณสุชาติ ภูมิบริรักษ์ ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักแปลและบรรณาธิการ
ปีนี้คุณสุชาติ อายุได้ 87 ปีแล้ว พำนักถาวรอยู่ในประเทศจีน หลังจากที่ร่วมคณะกับผู้แทนส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในฐานะเลขานุการ โดยมีหัวหน้าคณะคือ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" เดินทางไปเยือนจีนตามคำเชิญของสมาคมวัฒนธรรมแห่งประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ. 2501 ในเวลาเดียวกัน ได้เกิดการรัฐประหารที่ประเทศไทย ทำให้เขาไม่กล้ากลับประเทศ จึงขอลี้ภัยการเมืองอยู่ในจีนนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ระยะเวลายาวนานกว่า 50 ปี ที่คุณสุชาติ พำนักอยู่ในประเทศจีน จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง เขายังคงทำงานเกี่ยวข้องกับวงการสิ่งพิมพ์ หลังจากเข้าศึกษาวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แล้วออกมาเป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง จากนั้นย้ายไปทำงานที่แผนกภาษาไทย สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ ปักกิ่ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญจนเกษียณอายุ
คุณสุชาติ มีผลงานหลายเรื่องที่ได้เชื่อมร้อยเรื่องราวระหว่างไทยกับจีน ทั้งงานแปล งานบรรณาธิการ และงานเขียนของตัวเอง หนังสือเล่มหนึ่งที่สร้างความเป็นที่โจษขานกันทั้งหมู่คนไทยและจีนคือเรื่อง "สืบประวัติชาติไทย น่านเจ้า-อาณาจักรของใคร" ที่ได้สืบค้นข้อมูลใหม่จนค้นพบว่า แท้ที่จริงแล้ว น่านเจ้า ไม่ได้เป็นของไทย และไทยไม่ได้สร้างอาณาจักรนี้ขึ้นมา แต่เป็นของชนเผ่าในจีนดั้งเดิมคือชนชาติหยีกับชนชาติไป๋
"ผมไปเถียงกับนักประวัติศาสตร์จีน ว่าน่านเจ้าเป็นของไทย เพราะเราเรียนและรับรู้กันมาอย่างนั้นตั้งแต่อดีต แต่เขาบอกว่า ไม่ใช่ ผมก็สงสัยเลยไปสืบค้นข้อมูล ขออนุญาตทางการเขาลงพื้นที่ มีล่ามไปด้วย ไปคุยกับผู้คน ทั้งผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ ชาวบ้าน ผู้รู้ต่างๆ จนได้ความว่า ชนชาติหยี มีอำนาจอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ต่อมามีการสู้รบกับชนชาติไป๋ แล้วแพ้ ก็เลยตกอยู่ใต้การปกครองของชนชาติไป๋ แต่เขาเรียกว่า "หนันเจ้า" ใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆนานหลายปี จนกระทั่งหลักฐานต่างๆยืนยันชัดเจน เราก็เลยต้องยอมรับว่าเข้าใจผิดไป"
ความเป็นนักสังเกต สนใจเรียนรู้และชอบค้นคว้า ทำให้เขาลงมือสืบค้นข้อมูลอย่างจริงจัง และได้เขียนผลการค้นพบดังกล่าวออกมา ซึ่งก็ได้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของคนไทย หลังจากที่เราเคยเรียนรู้แต่ข้อมูลที่ถูกคัดลอกมาจากหนังสือที่ชาวตะวันตกเขียนไว้ในสมัยล่าเมืองขึ้น
คุณสุชาติ ยังมีผลงานบรรณาธิการอีกหลายเล่ม ทั้งที่เป็นบก.เองและทำงานร่วมกับเพื่อนชาวจีน อาทิ ชุมนุมเรื่องสั้นของหลู่ซวิ่น ศึกซังกำเลียง หวนระลึกการเดินทัพทางไกล สงครามฝิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลงานแปลเช่น คลื่นลมวันวิวาห์ นิทานพื้นเมืองชนชาติไต รังว่าง หมิงกูเหนียง ฯลฯ
คุณพัลลภ สามสี บรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งเป็นผู้แทนคุณสุชาติไปรับรางวัลกล่าวว่า ผลงานของคุณสุชาติ มีความโดดเด่นเนื่องจากได้มีส่วนสำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมไมตรีระหว่างไทย – จีน และได้สร้างสรรค์ผลงานที่ทำให้คนไทยได้รู้จักจีนในแง่มุมต่างๆที่หลากหลาย
คุณสุชาติ ยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมิตรแท้ชาวต่างชาติ 1 ใน 17 คน อีกด้วย
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง
2014-05-30