采访朱大老师
|
กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ทางผู้สื่อข่าวของ CRI ได้รับเกียรติจาก รศ. ดร. ปณิธาน วัฒนายากร ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองต่างๆภายใต้หัวข้อ "บทบาทและการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานีวิทยุ CRI ในประเทศไทย" ซึ่งเนื้อหาในการสัมภาษณ์ (ฉบับย่อ) มีดังนี้
ผู้สื่อข่าว CRI: จากมุมมองของอาจารย์ในฐานะนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันสถานีวิทยุซีอาร์ไอภาคภาษาไทย มีบทบาทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับไทยอย่างไรบ้าง
รศ. ดร. ปณิธาน: สื่อในปัจจุบัน โดยเฉพาะสื่อที่รายงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะไทยกับจีนก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากว่าเรามีปฏิสัมพันธ์กับจีนมากขึ้นเป็นลำดับ ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลก็ดีมากโดยตลอด ในแง่ของประวัติศาสตร์ก็ลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้นผู้คนก็ต้องการให้สื่อรายงานความใกล้ชิด ความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นให้มากขึ้น ก็เลยนำมาสู่ความนิยมของสื่อของจีน สื่อที่รายงานเรื่องจีนมากขึ้น
ผู้สื่อข่าว CRI: จากที่อาจารย์กล่าวมา จะมีปัจจัย สภาพแวดล้อม หรือการเปลี่ยนแปลงใดบ้างที่จะมีผลกระทบต่อองค์กรสื่อระหว่างประเทศ อย่างเช่น สถานีวิทยุซีอาร์ไอ
รศ. ดร. ปณิธาน: สถานีวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งซีอาร์ไอเองก็สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน จีนกับมหาอำนาจ โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่น สื่อต้องระมัดระวังในการนำเสนอและการรายงานในอนาคตเพราะว่า การที่สื่อต้องการรายงานข้อเท็จจริงแต่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งก็ได้ เพราะว่าสื่อที่มาจากจีนก็ยังต้องระมัดระวังในการดำเนินการอยู่เพราะว่าระบบไม่ได้เปิดกว้างเท่ากับสื่อในตะวันตก เวลารายงานเรื่องที่ละเอียดอ่อน สื่อจีนก็อาจจะต้องมีข้อจำกัด
หลายคนมองว่า สื่ออาจจะไม่มีความเป็นอิสระพอที่จะรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด อันนี้ก็จะเป็นผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสื่อ แต่ถ้าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในด้านการค้า ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา สื่อสามารถรายงานตามความเป็นจริงได้ดี แล้วคนก็ตอบรับ โดยเฉพาะในไทยในอาเซียนก็ตอบรับบทบาทของสื่อจีนดีพอสมควรอยู่แล้ว โดยเฉพาะพลเมืองในประเทศอาเซียนที่พูดจีนได้ ก็จะเห็นว่าเขาสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้โดยตรงจากสื่อจีน และสื่อจีนที่อยู่ในเมืองไทยเองก็มีเพิ่มมากขึ้นและก็รวมทั้งสื่อไทยเองซึ่งเริ่มรายงานเหตุการณ์บ้านเมืองไทยเป็นภาษาจีน เดี๋ยวนี้มีหลายสื่อเพิ่มมากขึ้นก็ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดี
อุปสรรคที่จะพบคือ ถึงแม้ว่าสื่อควรรายงานตามข้อเท็จจริงแล้วก็พยายามที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องของการเมืองภายใน แต่นั่นเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกประเทศมีความเกี่ยวพันกันมากขึ้นและก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่ การรายงานข่าวและพบปัญหาหรือมีประชาชนพอใจบ้างไม่พอใจบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แล้วการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น สื่อบางสื่ออาจจะโดนดึงไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง คนไทยหลายกลุ่มในเมืองไทยก็ต่อต้านบทบาทของสื่อเหล่านั้น เพราะคิดว่าพวกเขาเลือกข้างและลำเอียง อันนี้ก็ทำให้ความไว้ใจที่มีต่อสื่อเหล่านั้นเสียไป นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังเพราะว่าการกู้ชื่อกลับมาจะทำได้ยาก
เรื่องยากมากและท้าทายที่สุดเรื่องหนึ่งของคนที่ทำสื่อในปัจจุบันนั่นคือ "เรื่องความรวดเร็ว" เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องการมาก ต้องการเข้าถึงข้อมูล, รู้เหตุการณ์นั้นๆเสมือนจริง อย่างไรก็ดี การรายงานด้วยความรวดเร็วมันจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เช่น ข้อมูลอาจจะไม่ครบถ้วนรอบด้าน แต่บางสื่อก็ทำได้ดี โดยเฉพาะสื่อที่มีบุคลากรมาก มีการเตรียมพร้อมอย่างดี แต่ว่ามันก็มีข้อจำกัดอยู่ เพราะถ้าเน้นความเร็วจะทำให้ความแม่นยำหรือความละเอียดลดลง สื่อที่ทรัพยากรไม่มากก็หันไปเน้นเรื่องความแม่นยำ การวิเคราะห์เจาะลึกที่ลึกซึ้งขึ้นเพื่อทดแทน
ความเร็วเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง คนต้องการการวิเคราะห์ ต้องการภาพที่ลึกกว่า พอได้ความเร็วแล้วคนส่วนใหญ่ก็อาจไปติดตามเรื่องอื่นต่อ แต่คนที่จะต้องใช้ข้อมูลจริงๆจังๆ เช่น นักวิเคราะห์ นักวางแผน ผู้นำ เขาอาจจะต้องการข้อมูลเชิงลึก สื่อจำนวนไม่น้อยมุ่งพัฒนาเรื่องของความแม่นยำในการวิเคราะห์เจาะลึก เปิดมุมมองต่างๆที่หลากหลายมากขึ้น จะใช้เวลามากขึ้น ก็ได้ตลาด ได้จุดยืน แต่บางสื่อก็ทำสองอย่างพร้อมกัน และก็ทำได้ดีเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น อัลจาซีร่า (Al Jazeera) ทั้งๆที่ประเทศที่อัลจาซีร่าตั้งอยู่ไม่ได้เป็นประเทศที่เปิดกว้างหรือว่าเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากเท่าไร แต่ก็ยังทำได้ ก็แสดงว่ามันมีโอกาสที่หลายๆสื่อในจีนจะทำแบบนั้นได้ ก็คือทั้งเร็วและทั้งเจาะลึก
สำหรับเรื่องความเร็ว-- เข้าใจว่าไม่ค่อยมีปัญหา แต่ว่าในการเจาะลึกยังมีปัญหาอยู่นิดหน่อย อาจจะต้องพัฒนาในเรื่องของบุคลากร ในแง่ของความสามารถ ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับวัฒนธรรมของจีนในทั่วไป ที่อาจจะไม่นิยมการเจาะลึกมากในบางเรื่อง แต่สามารถแยกแยะได้ว่าเรื่องระหว่างประเทศ หรือเรื่องในประเทศ เรื่องระหว่างประเทศ จีนก็เริ่มเจาะลึกมากขึ้น
ข้อดีของสื่อจีนอีกอย่างหนึ่ง คือ มีสื่อจีนที่สามารถวิเคราะห์เจาะลึกและพัฒนาไปได้ไกลในหลายประเทศซึ่งใช้ภาษาจีนอยู่แล้ว หรือว่าในเขตปกครองพิเศษ อย่าง ฮ่องกง ก็มีหลายสื่อที่ในอดีตมีความสามารถสูงมาก ทั้งรวดเร็วทั้งแม่นยำ หากสามารถดึงเอาบุคลากรพวกนั้นมาช่วยพัฒนา หรือว่าเอามาเป็นรูปแบบก็ได้ สื่อจีนหลายสื่อจะต้องเตรียมพร้อมในการพัฒนาต่อไป ในเรื่องความแม่นยำ ในเรื่องการเจาะลึก ในเรื่องแนวทางการวิเคราะห์ มุมมองที่วิเคราะห์มาจากจีนนี่น่าสนใจมาก และถ้าสามารถพัฒนาได้ก็เป็นประโยชน์กับโลกและผู้บริโภคมากขึ้นในอนาคต
ผู้สื่อข่าว CRI: ข้อเสนอแนะของอาจารย์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องทิศทางการดำเนินงานขององค์กรสื่อสารมวลชนระหว่างประเทศ อย่างสถานีวิทยุซีอาร์ไอ ควรจะมียุทธศาสตร์หรือวางทิศทางไปในแนวไหนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
รศ. ดร. ปณิธาน: การรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างๆโดยทั่วไปแล้ว ประชาชนก็จะบริโภคเนื้อหาเป็นหลัก แต่ว่าไม่ได้คิดถึงเรื่องบทบาทของสำนักข่าวมากนัก การพัฒนาให้สำนักข่าวเป็นที่ยอมรับก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และก็เป็นเรื่องที่อาจจะต้องมีความต่อเนื่องในการรายงาน ก็คือว่าบางกรณีสื่อก็อาจจะรายงานเรื่องหลากหลายมาก แล้วก็ทำให้คนไม่คุ้น บางกรณีก็อาจจะรายงานเฉพาะด้านเฉพาะเรื่อง ใช้เวลามากที่จะพัฒนาให้คนรู้จักสำนักข่าว อย่างเช่น ซีเอ็นเอ็น บีบีซี อัลจาซีร่า หรือว่าบีโอเอ ใช้เวลานานนี่คือเรื่องแรก เรื่องที่สอง คือ อาจจะต้องเจาะลึกในประเด็นบางอย่างเฉพาะด้านเฉพาะเรื่อง บางสื่อก็อาจจะเน้นเรื่องการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม อันนี้ก็เป็นเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะ ซึ่งผู้บริโภคก็จะดูว่าสื่อไหนเชี่ยวชาญเรื่องอะไร สำนักข่าวใหญ่ๆเขาอาจจะมีบุคลากรเยอะ มีทรัพยากรเยอะ สามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญได้หลายด้าน แต่สำนักข่าวที่ไม่ใหญ่นักอาจจะต้องเลือกพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเฉพาะเรื่อง
สื่อโดยทั่วไปที่คนสนใจมากๆของจีน ก็น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่คนไทยสนใจ แต่ตัวผมเองสนใจเรื่องความมั่นคง เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีปัญหา อย่างเช่น เรื่องของข้อพิพาทเรื่องของดินแดง เรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติ เรื่องเหล่านี้ บางครั้งบางคราวเราอาจจะไม่ได้รับการรายงานอะไรโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสามารถที่จะรับฟังสื่อจีนแล้วทราบว่าขณะนี้มีกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติที่มาจากจีนแล้วก็กำลังเข้ามาปฏิบัติการในเมืองไทย เข้ามาหลอกนักท่องเที่ยวจีนในเมืองไทย ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากในความคิดเห็นส่วนตัว แต่คนทั่วไปอาจจะคิดว่า เขาต้องการรู้เกี่ยวกับเรื่องของศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีน ตลาดของจีน แนวโน้มของจีน แม้แต่เรื่องการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลจีนออกคู่มือในเรื่องนักท่องเที่ยว อันนี้ผมคิดว่าคนก็สนใจ
โดยรวมก็คือว่าสื่อจีนก็ถือว่าไม่น้อยในเมืองไทย หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากไม่มีตลาดหรือลูกค้าเฉพาะด้าน บางครั้งบางคราวก็คงใช้เวลาถึงจะสามารถพัฒนาให้เป็นที่รู้จัก
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿