สำนักข่าวแห่งประเทศจีนรายงานว่า การประชุมเสวนาว่าด้วยการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมต่อการของเอเชีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟอรัมเอเชียโป๋อ๋าว โดยจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน นาย Loh Ka Leung เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำจีน ซึ่งเข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ กล่าวขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่กรุงปักกิ่งว่า การให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลนั้น มีความหมายสำคัญอย่างยิ่งต่อการเชื่อมต่อความสัมพันธ์กันทางการเงินของทวีปเอเชีย ต่อไปในอนาคต สิงคโปร์จะพัฒนาธุรกิจการออมทรัพย์และปล่อยเงินกู้ด้วยเงินหยวนให้ก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง เพื่อแสดงบทบาทเป็นชุมทางด้านการเงินระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ดียิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นตลาดการออมทรัพย์และปล่อยเงินกู้ด้วยเงินหยวนที่สำคัญของโลก และเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญที่สุดสำหรับให้จีนดึงดูดเม็ดเงินมาลงทุนได้เป็นจำนวนมาก ตามที่ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีนระบุไว้ ยอดการลงทุนของสิงคโปร์ในจีนปี 2013 มากถึง 732,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 12.06% เมื่อเทียบกับปี 2012 จนทำให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มียอดการลงทุนในจีนมากที่สุดของโลก
นอกจากสิงคโปร์แล้ว ฮ่องกงของจีนก็เป็นศูนย์กลางด้านการออมทรัพย์และปล่อยเงินกู้ด้วยเงินหยวนที่ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว ส่วนศูนย์กลางด้านการเงินระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น กรุงลอนดอน เมืองแฟรงค์เฟิร์ต เป็นต้น ต่างทุ่มเทกำลังชิงโอกาสเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านการออมทรัพย์และปล่อยเงินกู้ด้วยเงินหยวน นาย Loh Ka Leung อธิบายว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับเมืองดังกล่าว มีทั้งส่วนแข่งขันและส่วนเกื้อกูลกัน เขาเน้นว่า สิงคโปร์สามารถมีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นชุมทางและศูนย์กลางการเงินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในขณะเดียวกัน นาย Loh Ka Leung ชี้แจงว่า สิงคโปร์กับลอนดอนก็ได้จัดตั้งเวทีร่วมมือและเจรจาในการกระชับให้เงินหยวนเป็นเงินตราสากล ทางการสิงคโปร์ยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับหุ้นส่วนเหล่านี้
เกี่ยวกับข้อเสนอของจีนที่ให้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนต่อโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียนั้น นาย Loh Ka Leung เห็นว่า การเพิ่มขีดการเชื่อมต่อกันของเอเชีย รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทั้งทางทะเล ทางบกและทางอากาศ และการเชื่อมต่อกันทางอินเตอร์เน็ต บุคลากร และการบริการทางการเงิน เนื่องจากมีความต้องการด้านการพัฒนาอันใหญ่หลวง การก่อตั้งธนาคารนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการตอบสนองความต้องการดังกล่าว เขาเน้นว่า จีนเป็นมืออาชีพด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ต่างมีจุดแข็งของตนเอง ส่วนตลาดการลงทุนต่อโครงสร้างพื้นฐานนั้น มีขนาดใหญ่มากๆ พอที่จะรองรับให้ทุกฝ่ายมามีส่วนร่วม
YIM/FENG