จากสถิติปี 2011 การจดทะเบียนเครื่องบินส่วนตัวในจีนมีประมาณ 90 ลำ ถือว่าเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับสิบปีก่อนที่มีเพียงแค่หลักหน่วย โดยในปี 2011 ประเทศจีนก็ได้กลายเป็นตลาดซื้อขายเครื่องบินใหม่ที่ใหญ่สุดของโลก และปัจจุบัน เครื่องบินส่วนตัว ค่อยๆ กลายเป็นเครื่องหมายแสดงฐานะความร่ำรวยของบรรดาเศรษฐีจีนไปแล้ว
อภิมหาเศรษฐีจีน อาทิ หม่าอวิ๋น สื่ออี้ว์จู้ จางจิ้นตง หวังเจี้ยนหลิน หลี่เยี่ยนหง
ต่างมีเครื่องบินส่วนตัว G550 ไว้ในครอบครอง
และสำหรับความทรงจำเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์ของคนจีนทั่วไป มักจะมาจากจอโทรทัศน์หรือภาพยนตร์เป็นส่วนใหญ่ และมีบ้างบางครั้งที่แหงนหน้ามองฟ้าแล้วเห็นของจริงบินอยู่กลางอากาศ การจะได้ขึ้นไปขับหรือนั่งดูเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมเหลือคณา แต่หลังจากที่จีนมีการประกาศความคิดเห็นเกี่ยวกับปฏิรูประเบียบการบินและส่งเสริมการทดลองปฏิรูปเปิดน่านฟ้าระดับล่าง นอกจากทำให้ความคิดใช้งานเครื่องบินส่วนตัวในภาคเอกชนมีมากขึ้น ยังทำให้ความรู้สึกแปลกใหม่ในใจประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์ก็ค่อยๆ จางหายไปเช่นกัน
ผลการศึกษาพบว่า คนจีนได้ดึงความสามารถและโอกาสทางธุรกิจที่แฝงไว้ของเฮลิคอปเตอร์นอกเหนือจากการใช้เป็นเพียงพาหนะขนส่ง แต่ถึงอย่างไร เนื่องจากการควบคุมน่านฟ้าในระดับล่างของจีนยังมีความเข้มงวดอยู่ แม้จะมีเงินซื้อ การจะใช้บินแต่ละครั้งก็ยังต้องยื่นเรื่องขอก่อน ซึ่งปกติใช้เวลาพิจารณาประมาณ 5-7 วัน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจะขึ้นบินได้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น ในความเป็นจริงแล้วจำนวนการบินเพื่อเดินทางติดต่อธุรกิจมีไม่มากนัก วิสาหกิจจีนทั้งหลายจึงมักใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นอาวุธในการประชาสัมพันธ์บริษัทเสียมากกว่า
ทั้งนี้ ในอดีตการรับส่งผู้นำหรือลูกค้ามักจะใช้รถยนต์ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเฮลิคอปเตอร์แทน ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการรับรองแขกหรือลูกค้าคนพิเศษ บางบริษัทถึงขั้นออกแบบห้องผู้โดยสารบนเครื่องเป็นห้องประชุมหรูเพื่อรับรองกันเลยด้วยซ้ำ
นอกจากรับส่งแขกวีไอพีแล้ว ยังใช้ประโยชน์เพื่อการพาหุ้นส่วนคนสำคัญบินเยี่ยมชมบริษัท และบริเวณรอบๆ ด้วย หรือแม้กระทั่งเพียงเพื่อมอบประสบการณ์เดินทางครั้งพิเศษให้ ดังนั้น มีบริษัทเอกชนโนเนมจำนวนไม่น้อย ที่เพียงเพราะมีเฮลิคอปเตอร์ในครอบครอง ก็ทำให้ภาพลักษณ์บริษัทถูกยกสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และอาจได้โอกาสเจรจาติดต่อมาแบบไม่คาดฝันด้วย
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府