เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(International Civil Aviation Organization) เรียกผู้แทนบริษัทสายการบินจากประเทศต่างๆ ร่วมประชุมระดับสูงว่าด้วยความปลอดภัยของการบินพลเรือนเหนือน่านฟ้าพื้นที่ที่มีการปะทะกัน โดยประเด็นหลักอยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างอำนาจการบริหารที่เป็นตัวของตัวเองของประเทศกับการกำกับดูแลระหว่างประเทศ ตลอดจนมาตรการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของเครื่องบินพลเรือนเหนือน่านฟ้าพื้นที่ที่มีการปะทะกัน
เมื่อเช้าวันที่ 18 กรกฎาคม องค์กรกำกับดูแลการบินประกาศปิดน่านฟ้าเหนือภาคตะวันออกของยูเครน บริษัทสายการบินมาเลเซียระบุว่า เส้นทางการบินไป-กลับยุโรปทุกสายที่ดำเนินการอยู่ ต้องเปลี่ยนเส้นจากทางปกติ และใช้เส้นทางสำรอง หนังสือพิมพ์เดอะวอลสตรีทเจอร์นัลรายงานว่า นอกจากบริษัทสายการบินมาเลเซียแล้ว มีบริษัทสายการบินจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างน้อย 7 ราย และบริษัทสายการบินของยุโรป เช่น ลูฟร์ฮันซาของเยอรมัน และแอร์ ฟรานซ์ ของฝรั่งเศส ต่างประกาศเลิกบินผ่านน่านฟ้าเหนือภาคตะวันออกของยูเครน
พฤติกรรมการเปลี่ยนเส้นทางการบินแบบนี้ สำหรับบริษัทสายการบินแล้ว ก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ น่านฟ้าเหนือภาคตะวันออกของยูเครน เป็นช่องทางไป-กลับยุโรปสะดวกที่สุดของบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การปรับแผนเส้นทางการบินข้ามชาติอย่างขนานใหญ่ในลักษณะนี้ ย่อมจะทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงของสายการบินต่างๆ ที่นับว่าสูงลิ่วแล้ว เพิ่มสูงขึ้นไปอีก
หลังจากเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินเที่ยวบิน MH17 ตกและพังพินาศ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศแถลงการณ์กับ 191 สมาชิกขององค์การฯ ทั้งที่เป็นประเทศและภูมิภาค โดยเรียกร้องรัฐบาลประเทศต่างๆ ออกคำเตือนภัยอันตรายด้านการบินเหนือน่านฟ้าเขตพื้นที่ที่มีการสู้รบกัน แก่บรรดาบริษัทสายการบินอย่างทันท่วงที ประกันความปลอดภัยของเครื่องบินพลเรือนที่บินผ่านอย่างแท้จริง พร้อมเรียกร้องรัฐบาลทุกประเทศให้รับผิดชอบต่อการประเมินสภาพความปลอดภัยในน่านฟ้าที่เครื่องบินพลเรือนสัญจรไปมา วงการการบินทั่วโลกต้องร่วมใช้ความพยายาม ทำให้การบินพลเรือนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
IN/FENG