สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลายปีมานี้ จีนกับอาเซียนมุ่งใช้ความพยายามสร้าง "ระเบียงเศรษฐกิจจีน-สิงคโปร์" ที่เชื่อมต่อเขตกว่างซีและมณฑลหยุนหนันของจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย กับสิงคโปร์ เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าจีน-อาเซียน
ในงานมหกรรมจีน-อาเซียนครั้งที่ 11 ที่สิ้นสุดลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การเดินหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-อาเซียน กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเห็นว่า โครงการนี้มีความหมายสำคัญยิ่งต่อการเชื่อมต่อโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ทำให้การลงทุนและการค้าข้ามแดนมีความสะดวกมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคไม่น้อย เช่น ผลประโยชน์ของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันไป มาตรฐานโครงการพื้นฐานทางคมนาคมก็ไม่มีแบบแผนเดียวกัน และมีความยากลำบากในการระดมทุน
นายหม่า เจียลี่ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและเปิดประเทศแห่งประเทศจีนเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผลประโยชน์ที่ต้องการได้มาจากระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ของแต่ละฝ่ายก็ไม่เหมือนกัน อีกด้านหนึ่ง โครงการนี้ต้องการงบประมาณมหาศาล ความสามารถในการระดมทุนของรัฐบาลบางประเทศค่อนข้างจำกัด ถึงแม้รัฐบาลจีนลงทุนและระดมทุนจำนวนมาก แต่พิจารณาในภาพรวมแล้ว การสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-สิงคโปร์ยังคงขาดแคลนเงินทุนอยู่
นอกจากนี้ บรรดาประเทศที่เกี่ยวข้องไม่ได้กำหนดมาตรฐานการเชื่อมต่อที่เป็นแบบแผนเดียวนั้น จะกระทบต่อการผลักดันโครงการนี้ เช่น ความกว้างของรางรถไฟที่ไม่เหมือนกัน ย่อมทำให้ประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟข้ามชาติลดต่ำลง กฎเกณฑ์ทางจราจรที่ไม่เหมือนกันก็ได้เพิ่มความลำบากในการบริหารรถขนส่งข้ามชาติ คือ ขับรถในจีน เวียดนามและลาว ต้องขับชิดขวา ส่วนที่ประเทศไทย มาเลเซียและสิ่งคโปร์กลับต้องขับรถชิดซ้าย เป็นต้น
นักวิชาการที่เกี่ยวข้องเสนอว่า การขจัดอุปสรรคดังกล่าวต้องการสร้างกลไกต่างๆ เช่น กลไกแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำประเทศที่เกี่ยวข้อง กลไกหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง องค์กรประสานงานการสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-สิงคโปร์ กระตุ้นความร่วมมือภายในภูมิภาคที่อำนวยความสะดวกแก่การขนส่งทั้งทางทะเลและทางบกระหว่างประเทศ คลังข้อมูลอีเล็กทรอนิกส์ที่ให้ด่านศุลกากรประเทศต่างๆ ร่วมใช้ประโยชน์ได้ กระชับความร่วมมือด้านการตรวจสอบคุณภาพและกักกันโรค กำหนดให้ใช้มาตฐานและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นแบบแผนเดียว เป็นต้น
YIM/FENG