วันนี้(๒๔ กันยายน ๒๕๕๗) คณะผู้สื่อข่าวทั้งจีนและต่างชาติจาก ๔ ทวีปภายใต้การนำของนางจาง ฮุย รองผู้อำนวยการสำนักบรรณาธิการใหญ่สถานีวิทยุซีอาร์ไอ ในโครงการเดินทางด้วยใจรัก : ซีอาร์ไอเกี่ยวก้อยเด็กภูเขา ได้ตระเวนดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อย อาทิ ปู้อีไป๋ อี๋ ฯลฯในหลายหมู่บ้าน พบว่าชาวบ้านขานรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ้นเปลืองพลังงาน ที่เคยโยกย้ายไปขายแรงงานต่างถิ่น ก็อพยพกลับมาใช้โอกาสจากการพัฒนาของอำเภอ ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม
นายหลี่ เหวินกัง (李文刚) ผู้ใหญ่บ้านหยางฉางซึ่งเป็นชาวไป๋ เล่าให้ฟังว่า ในหมู่บ้านมีประชากร ๓๘,๐๐๐ คน เป็นชนเผ่าปู้อี ไป๋ ม้ง และอื่น ๆ เดิมทีอาชีพหลักคือทำเหมืองถ่านหิน เมื่อทางการเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเน้นก่อคาร์บอนต่ำ ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน เพื่ออนาคตของตัวเราและลูกหลาน ชาวบ้านจึงหันไปทำนา โดยการทำนาที่นี่จะมีลักษณะพิเศษคือนายจ้างจะให้ค่าจ้างวันละ ๖๐ หยวนและผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้แบ่งกันคนละครึ่ง ปลูกชาหมื่นไร่เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันบริโภค ปลูกซื่อหลี(สาลี่ที่มีหนามรสเปรี้ยวซึ่งเป็นผลไม้ที่มีเฉพาะในพื้นที่นี้)เพื่อป้อนโรงงานแปรรูปนำไปทำเป็นน้ำผลไม้และผลไม้เชื่อม ในแง่ของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ทุกชนเผ่ายังรักษาและสบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้อย่างดี อย่างที่หมู่บ้านหยางฉ่างซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านแห่งเครื่องดนตรีใบไม้ ตั้งแต่เด็กเล็กถึงผู้สูงวัยก็ยังรวมกันเล่นดนตรีใบไม้ได้อย่างเพราะพริ้ง
นายหวาง หย่งเฉิง (王永成) ชาวบ้านอีว์หนีเหอ เล่าว่า อดีตเคยไปทำงานที่กวางโจว หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเดือนละพันกว่าหยวน เมื่อท้องถิ่นพัฒนาจึงกลับมาทำงานที่บ้านเกิดทั้งรับจ้างและปลูกเกาลัด มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะนี้กำลังปลูกบ้านซึ่งรัฐบาลก็ให้เงินอุดหนุนการสร้างบ้านด้วย