สำนักข่าวซินหวารายงานว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังอังกฤษประกาศเริ่มกระบวนการออกพันธบัตรสกุลหยวนครั้งแรก ต่อมา สื่อมวลชนต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารกลางของยุโรปก็กำลังคิดจะรวมสินทรัพย์เงินสกุลหยวนให้เป็นเงินตราต่างประเทศสำรองเช่นกัน ทั้งนี้ได้ดึงดูดให้เจ้าหน้าที่ด้านการคลังและการเงินของประเทศต่างๆ หยิบยกมาอภิปรายอย่างคึกคักในที่ประชุมช่วงฤดูใบไม้ร่วงประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศกับธนาคารโลกที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
เกี่ยวกับการที่ธนาคารกลางยุโรปจะรวมเงินหยวนให้เป็นเงินตราต่างประเทศสำรองหรือไม่นั้น นายมารีโอ ดรากี (Mario Draghi) ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปไม่ได้ให้คำประเมินที่ชัดเจนในที่ประชุมแถลงข่าวที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา เขากล่าวว่า เนื่องจากจีนกลายเป็นหุ้นส่วนทางการค้าใหญ่อันดับ 3 ของสหภาพยุโรป จึงมีความหมายอย่างยิ่งที่เตรียมงานเพื่อให้เงินหยวนมีบทบาทมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันเขากล่าวอีกว่า เงินหยวนยังไม่สามารถแลกเปลี่ยนอย่างอิสระเหมือนเงินดอลลาร์ เงินเยน หรือเงินตราสำรองระหว่างประเทศอื่นๆ
นางเซตี อัคห์ตาร์ อาซิซ (Zeti Akhtar Aziz) ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียกล่าวในที่ประชุมประจำปีดังกล่าวว่า ธนาคารมาเลเซียใช้เงินหยวนเป็นเงินตราต่างประเทศสำรองส่วนหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา เธอเห็นว่า ถ้าธนาคารกลางยุโรปก็มีแผนทำเช่นนี้เหมือนกัน ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของเงินสกุลหยวนอีกครั้ง อันที่จริง เกาหลีใต้ กัมพูชา เบลารุส รัสเซีย ฟิลิปปินส์ และไนจีเรีย ก็ได้ใช้เงินหยวนเป็นส่วนหนึ่งของเงินตราต่างประเทศสำรองนานแล้ว
นายโจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีนกล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า การที่มีประเทศมากขึ้นยอมรับใช้เงินหยวนเป็นเงินสำรองนั้น เป็นเรื่องดี และแสดงให้เห็นว่า จีนยังมีงานที่ต้องปฏิบัติหลายอย่าง เช่น ลดการแทรกแซงตลาดการเงินจากการบริหารทางการเมือง ทำให้พัฒนาตามสภาพของตลาดให้มากขึ้น จึงทำให้เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินที่แลกได้อย่างเสรีในที่สุด
Yim/Ldan