มุมมองของรศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อการประชุมผู้นำเอเปค
  2014-11-10 11:22:08  cri

รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและสนใจในด้านจีนศึกษาเป็นพิเศษ โดยมีผลงานทางวิชาการและงานวิจัยตีพิมพ์เป็นหนังสือ รวมถึงการเขียนบทความทางวิชาการเผยแพร่ในวารสารและหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง อาทิ คอลัมน์คลื่นบูรพา หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

อาจารย์เห็นว่า กรอบความร่วมมือเอเปคมีความสำคัญต่อการพัฒนาของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วยเป็นอย่างไรบ้าง

รศ.พรชัยฯ:

การประชุมผู้นำเอเปคเป็นการประชุมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ผมคิดว่าไม่ได้แต่เพียงเฉพาะภูมิภาคบนสองฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเท่า นั้น แต่น่าจะรวมไปถึงเศรษฐกิจของโลกทั้งโลกเลย ว่าอย่างน้อยที่สุดก็จะมีการพบปะพูดคุยกัน แล้วก็มีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งอันดับหนึ่งและอันดับสอง ก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่ทั้งสหรัฐฯและจีน ฉะนั้น ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่ว่าจะมีข้อตกลงเกิดขึ้นมากหรือน้อยอย่างไรก็ตาม ผมถือว่ามันเป็นการประชุมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งครับ

หัวข้อหลักของการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้คือ "ร่วมสร้างความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วน เพื่อมุ่งสู่อนาคต" ในมุมมองของอาจารย์ หัวข้อหลักนี้สื่ออะไรบ้าง

รศ.พรชัยฯ:

ที่จริงการเกาะกลุ่มกันเป็นเขตเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา มันได้พิสูจน์แล้วว่า อาจจะไม่เพียงพอในการที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่เพียงพอที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรโลก ให้ดีขึ้นได้ลำพัง เพราะว่าการรวมกลุ่มในลาตินอเมริกา การรวมกลุ่มในอเมริกาเหนือ การรวมกลุ่มในสหภาพยุโรป การรวมกลุ่มของอาเซียน ของอะไรต่อมิอะไรเหล่านี้ ในที่สุดแล้วมันจะนำไปสู่การแข่งกัน นำไปสู่การปิดกั้น นำไปสู่กำแพงภาษี นำไปสู่อะไรต่อมิอะไรเยอะมาก ฉะนั้นถ้าหากว่าสามารถที่จะต่อเชื่อมกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกันได้ แล้วทำให้เขตเศรษฐกิจเหล่านี้กว้างขวางขึ้น ขยายตัวมากขึ้น อุปสรรคเหล่านั้นก็จะลดน้อยลง สินค้าก็ดี ทุนก็ดี การอุปโภคบริโภค แรงงานก็ดีก็จะสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าก็จะเป็นประโยชน์กับทุกๆ ประเทศ ไม่ใช่เฉพาะประเทศในแต่ละกลุ่มย่อยเท่านั้นครับ

หนึ่งในประเด็นหลักของการประชุมผู้นำเอเปคในปีนี้คือ "การส่งเสริมการสร้างเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก" อาจารย์มีความคิดเห็นต่อประเด็นนี้เป็นอย่างไรบ้าง

รศ.พรชัยฯ:

ที่จริงแม้ไม่ได้เอาเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นหลักหรือประเด็นใหญ่ ผมเองโดยส่วนตัวเชื่อว่า ไม่ช้าก็เร็วต้องเกิดแน่ เพราะตอนนี้เขตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือก็มีความก้าวหน้า ไปเยาะมาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ใช่ไหมครับ แล้วก็ยังมีส่วนอาเซียน 10 ประเทศ ในอาเซียน10 ประเทศเอง ในช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็พยายามที่จะต่อเชื่อมเพิ่มมากขึ้น จากอาเซียนบวก 3 มาเป็นอาเซียนบวก 6 ความร่วมมือตอนนี้ ท้ายที่สุดแล้วหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเชื่อมโยงเอาเศรษฐกิจในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ร่วมเข้ามาด้วย ฉะนั้น อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดอยู่แล้ว ผมถือว่า ถ้าหากไม่เกิดในการประชุมคราวนี้ ก็จะต้องเกิดโดยธรรมชาติของมันเอง สำคัญมากกว่านั้นก็คือว่า มันจะทำให้ภาพที่เดิมดูเหมือนกับมีการแข่งขัน เช่น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เดิมทีก็มีความรู้สึกว่า คล้ายๆ กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งกับอันดับสองกำลังจะแข่งขันกัน ต่างฝ่ายต่างก็จะสร้างเขตของตัวเองขึ้น แต่ในเวทีอย่างเอเปคจะทำให้ภาพการแข่งขันนี้หายไป แล้วกลายเป็นภาพแห่งความร่วมมือ ภาพของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นครับ

อีกประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้คือ "ส่งเสริมการเชื่อมโยงประเทศและเขตแคว้นต่างๆ ในภูมิภาคนี้ให้เข้าด้วยกัน" อาจารย์เห็นว่า จีนและประเทศต่างๆ ในอาเซียนควรจะใช้ความพยายามอะไรบ้าง เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้โดยเร็ว

รศ.พรชัยฯ:

ที่จริงปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติในเวลานี้ คือปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงาน แล้วก็ทรัพยากร การที่แต่ละเขตเศรษฐกิจต่างคนต่างพัฒนา ต่างคนต่างที่จะจับกลุ่ม ต่างคนต่างที่จะก่อกำแพงขัดขวางซึ่งกันและกันไม่เป็นประโยชน์เลยในการที่จะทำให้เราสามารถที่จะพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการ ประหยัดพลังงาน และบนพื้นฐานของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การรวมกลุ่มกัน เชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้นจะทำให้ทรัพยากรก็ดี การใช้พลังงานก็ดีประหยัด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ระบบโลจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงภูมิภาคนี้เข้าด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะจีน ลงมาที่อาเซียนก็ดี หรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกก็ดี จะช่วยทำให้ต้นทุนทางพลังงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดน้อยถอยลงไปได้เยอะมากครับ ผมเชื่อว่า เป็นเรื่องที่ดีมาก มันไม่ใช่เพียงแค่ว่า การไปมาหาสู่กัน ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเฉยๆ แต่มันจะลดต้นทุนเรื่องพลังงาน ลดต้นทุนเรื่องอะไรต่อมิอะไรเพราะไม่มีอุปสรรคกีดขวางทางภูมิศาสตร์อีกต่อไป

อาจารย์ประเมินบทบาทของจีนในกรอบความร่วมมือเอเปคเป็นอย่างไรบ้าง

รศ.พรชัยฯ:

ผมได้ติดตามประเด็นเรื่องจีนเสนอให้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียขึ้น อันนี้ผมถือว่าเป็นการริเริ่มของฝ่ายจีนที่มีความสำคัญมาก แล้วบทบาทตอนนี้ของจีน ผมไม่มองว่าเป็นการแข่งขันกับธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ซึ่งเคยมีอยู่แล้ว แต่ผมมองว่า เป็นทางเลือก และเป็นหนทางในการขยายความร่วมมือให้มีความกว้างขวางมากยิ่ง ขึ้น ที่ผ่านมานี้ เวลาที่เราพูดถึงความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน หรือในเอเชีย และภูมิภาคอื่น เรามากจะมองเห็นว่า จีนเป็นฝ่ายให้ จีนเป็นฝ่ายที่จะต้องเอาเงินใส่เข้าไป แล้วก็อาจจะมีคนมองว่า ถ้าอย่างงั้น สงสัยในระยะยาว จีนก็จะมาเรียกร้องประโยชน์ตอบแทนจากเงินช่วยเหลือต่างๆ แต่การที่มีธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย ซึ่งริเริ่มโดยจีน มันก็จะทำให้การช่วยเหลือและการพัฒนาไปในลักษณะที่มีความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ผมทราบมาว่า รัฐบาลจีนจะใส่เงินที่เป็นทุนริเริ่มจัดตั้งธนาคารถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นเงินปริมาณที่เยาะมาก ก็เชื่อว่า บทบาทตอนนี้ของจีนจะทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้ง สำคัญในเอเชียตะวันออก เชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วก็กลับไปประเด็นที่เมื่อครู่ที่ผมพูดนะครับ คือทำให้มันประหยัดพลังงาน แล้วก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องไปอ้อม ไม่ต้องไปส่งต่อ ไม่ต้องไปถ่ายสินค้า ไม่ต้องไปทำอะไรต่อมิอะไร ทุกวันนี้ยังทำไม่ได้อย่างนั้น เหตุก็เพราะว่าโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อมจะรองรับ แต่ถ้าหากว่ามีธนาคารที่จีนริเริ่มอันนี้ คือธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย ผมเชื่อว่าประเทศต่างๆจะได้ประโยชน์จากแนวความคิดริเริ่มอันนี้ของจีนอย่างมาก

ในมุมมองของอาจารย์ ในวันข้างหน้า สมาชิกเอเปคควรจะเน้นความร่วมมือทางด้านไหนบ้าง

รศ.พรชัยฯ:

เอเปคก็ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก ปัญหาที่สำคัญหนึ่งก็คือ เอเปคดูเหมือนเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล แต่ประชาชนคนทั่วไปยังไม่ได้มีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเอเปค เท่าไร ฉะนั้น ภารกิจข้างหน้าของเอเปค ถ้าหากจะขยายเพิ่มเติมขึ้น ผมคิดว่า ควรจะเป็นภารกิจที่ดึงเอาประชาชนในแต่ละเขตภูมิศาสตร์ให้เข้ามามี ส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ลำพังเป็นเพียงการคุยกันระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล แต่อยากเห็นภาคประชาชนของเอเปคคุยกันด้วย ในอานาคต เราอาจจะต้องมีเวทีคู่ขนาน ถ้าหากมีจัดประชุมเอเปคที่ไหน ก็อาจมีจัดประชุมประชาชาติเอเปคคู่ขนานไปด้วย คือเอาประชาชนกับประชาชนมาคุยกัน ที่ผ่านมาเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล แต่ยังไม่เป็นความร่วมมือระหว่างประชาชาติต่อประชาชาติ คือยังไม่มีคุณลักษณะการเชื่อมโยงระหว่างประชาชาติต่อประชาชาติ ตอนนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนที่จะได้ประโยชน์หรือคนที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องทำงานจริงๆ สานต่อกิจกรรมภารกิจในเอเปค ไม่ใช่เฉพาะตัวรัฐบาลกับข้อราชการของประเทศต่างๆ แต่มันหมายรวมไปถึงประชาชนคนธรรมดาที่ทำมาหากินอยู่ด้วย อันนี้สำคัญครับ

(IN/cai)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040