ระหว่างการเยือนครั้งนี้ สหรัฐฯ กับอินเดียได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการโอนเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ใช้ในทางพลเรือนให้แก่อินเดีย ซึ่งถือเป็นผลสำเร็จใหญ่ที่สุดของการเยือนครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังตกลงกันเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย การป้องกันประเทศและพลังงานใหม่ นายโอบามาสัญญาว่าจะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่อินเดีย เพื่อช่วยเหลืิอวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อีกทั้งส่งเสริมการค้าระหว่างกัน นายโอบามายังระบุว่า สหรัฐฯ สนับสนุนให้อินเดียยื่นสมัครเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ
ในช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลอินเดียชุดที่แล้วซึ่งพรรคคองเกรสเป็นพรรครัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ พัฒนาค่อนข้างเชื่องช้าในทุกๆ ด้าน หลังจากพรรคประชาชนขึ้นปกครองประเทศเป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจน นายโมดีเคยกล่าวขณะเยือนสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วว่า อินเดียจะสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ การเยือนอินเดียครั้งนี้แสดงว่า นายโอบามาให้ความสำคัญกับอินเดีย
ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า การที่สหรัฐฯ กระชับความสัมพันธ์กับอินเดียก็เพื่อดำเนินยุทธศาสตร์สร้างความสมดุลใหม่ในเอเชียแปซิฟิก อันที่จริง สหรัฐฯ อยากดึงอินเดียเข้าวงเพื่อนของตนมานานแล้ว แต่อินเดียไม่ค่อยกระตือรือร้นต่อเรื่องนี้มาโดยตลอด หลังจากนายโมดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ปรับนโยบายเดิมที่มองตะวันออก มาเป็นการใช้ปฏิบัติการสู่ตะวันออก เตรียมที่จะเข้าร่วมกิจการของเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น ทั้งนี้ ทำให้สหรัฐฯ มองเห็นโอกาสที่จะกระชับความสัมพันธ์กับอินเดีย