สองเดือนแรกปีนี้ มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัวในอัตราร้อยละ 6.8 ปรับลดลงไปกว่ากึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2010 ที่อยู่ที่ร้อยละ 15.7 ภายใต้สภาพใหม่นี้ จึงมีความเร่งด่วนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมให้ทันสมัย จากที่เน้นขนาดไปเน้นที่ความเข้มแข็ง และการเผชิญหน้ากับโอกาสและความท้าทาย
ผู้แทนที่เข้าร่วมฟอรั่มจำนวนไม่น้อยระบุว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบใหม่นี้มีลักษณะหลอมรวมเทคโนโลยีสารสนเทศกับอุตสาหกรรมดั้งเดิมเข้าด้วยกัน ดังนั้น จีนในฐานะเป็นมหาประเทศด้านการประยุกต์ใช้และสร้างสรรค์เทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมีความได้เปรียบพิเศษ แม้ว่าจีนจะด้อยกว่าในเทคโนโลยีอุตสาหกรรมดั้งเดิมก็ตาม แต่ถ้าจับโอกาสได้ ก็จะสามารถ "แซงหน้าขณะเลี้ยวโค้ง" ได้เช่นกัน
เมื่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดำเนินมาถึงเรื่องที่ว่า "การผลิต" ควรปรับเป็น "การผลิตด้วยปัญญา" จีนควรทำอย่างไร
นายสง ฉวุนลี่ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์จีนเห็นว่า ควรพึ่งพาการสร้างสรรค์ด้วยตนเองมากกว่าเดิม ทั้งในส่วนของเทคโนโลยี รูปแบบการทำธุรกิจ และรูปแบบการจัดบริหาร โดยภาครัฐและภาคธุรกิจควรจัดสรรหน้าที่ตรงนี้ให้ดี
นางสาวเอลเลน เจ คุลล์แมน ประธานกรรมการกลุ่มดูปอนท์ (DuPont) ของสหรัฐอเมริการะบุว่า หากจีนลดข้อจำกัดสิทธิการถือหุ้นของนักธุรกิจต่างชาติอีกขั้น ก็จะมีส่วนส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาตินำเทคโนโลยีทันสมัยเข้าสู่จีน พร้อมกันนี้ หากสามารถคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มแข็งขึ้นอีกขั้นได้ ก็ไม่เพียงแต่จะทำให้บริษัทข้ามชาติได้รับประโยชน์เท่านั้น หากยังมีส่วนกระตุ้นบริษัทจีนให้มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
นายวอลค์มาร์ เดนเนอร์ หัวหน้าซีอีโอกลุ่มบอช (Bosch) ของเยอรมนีมีข้อเสนอว่า ควรสร้างระบบเทคโนโลยีวิชาชีพในวงการต่างๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
(TOON/LING)