กรุงเทพฯ – เพื่อเป็นการฉลองครบรอบสี่สิบปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทยจีนและเนื่องในวโรกาสครบรอบ 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทางสมาคมมิตรภาพไทย-จีนและนิตยสาร Thai Wind (泰国风) รวมทั้งพันธมิตรได้เชิญสุดยอดศิลปินจาก "หลิ่งหนาน" ทางตอนใต้ของจีน 3 ท่านมาจัดแสดงผลงาน ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯ โดยได้ทำการเปิดนิทรรศการไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558
ชื่อของหลิ่งหนาน(岭南) อาจจะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นหูชาวไทยมากนัก แต่ถ้าบอกว่าหลิ่งหนานนั้นหมายถึงบริเวณเทือกเขา็ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตมณฑลกวางตุ้ง (กว่างตง), กวางสี(กว่างซี), ไห่หนาน, หูหนานและเจียงซี เชื่อว่าคนไทยหลายคนจะคุ้นเคยกับท้องที่เหล่านี้มากกว่า สำหรับในด้านวัฒนธรรมอาจจะถือได้ว่าเมืองกวางเจา (กวางโจว) ในมณฑลกวางตุ้งนับเป็นตัวแทนที่โดดเด่นของวัฒนธรรมหลิ่งหนาน
สำหรับศิลปินสามท่านที่นำผลงานมาแสดงได้แก่ อ. เหลียง จวิ้นฉิว (梁俊球) จิตรกรผู้เชี่ยวชาญการวาดภาพนกและดอกไม้รวมถึงทิวทัศน์ แต่ที่เป็นที่เลื่องลือมากคือภาพวาดผลไม้ชื่อดังของหลิ่งหนานอันได้แก่ "ลิ้นจี่" (荔枝), อ. หวง จัวหลวน (黄卓銮) ชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางกลับมาจากประเทศอินโดนีเซีย จิตรกรชื่อดังผู้เชี่ยวชาญการวาดภาพทิวทัศน์ และท่านสุดท้าย - อ. เฉิน หงเปียว(陈鸿彪) ชาวซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวาดภาพทิวทัศน์และได้รับถ่ายทอดเทคนิคการวาดภาพแบบสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวน
นายเฉิน เจียง อุปทูตฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนกล่าวถึงความประทับใจในฝีมือวาดภาพของจิตรกรทั้งสามว่า ถึงแม้จิตรกรทั้งสามท่านมีส่วนที่คล้ายกันคือถนัดวาดภาพธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ นก หรือทิวทัศน์ แต่ว่าแต่ละท่านก็มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ยกตัวอย่างเช่น อ. เหลียง จวิ้นฉิว ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการวาดภาพผลไม้ โดยเฉพาะ "ลิ้นจี่" ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจีนตอนใต้และการจัดนิทรรศการครั้งนี้ก็ได้นำเอาภาพวาดลิ้นจี่ที่มีชื่อเสียงมาจัดแสดงด้วย นอกจากนี้ภาพของศิลปินทั้งสามท่านยังแสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวัน สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ทำให้ภาพของพวกเขาเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายถึงแม้ว่าผู้ชมอาจจะมีความรู้ความเข้าใจทางศิลปะที่จำกัดก็ตาม
ด้านนายกร ทัพพะรังสี นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีนกล่าวว่าคนจีนเข้ามาสู่ไทยครั้งแรกเมื่อ 800 ปีก่อน ส่วนใหญ่เดินทางมาจากสิบสองปันนาและเมื่อ 300 ปีก่อนมีชาวจีนอีกกลุ่มหนึ่งเดินทางมายังประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซัวเถา (ซานโถว) กวางเจา จะเห็นได้ว่าไทยและจีนมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿