เก็บตกงานมหาสงกรานต์ 4 แผ่นดิน ณ เชียงแสน
  2015-04-27 20:00:40  cri

เดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปม่วนซื่น (ม่วนชื่น) ประเพณีสงกรานต์ไกลถึง จ. เชียงราย ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางไปยังอ .เชียงแสน จ.เชียงราย หลังจากที่ได้ยินชื่อเสียงมาช้านาน การไปเยือนครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่ได้ไปร่วมชมบรรยากาศในช่วง"สงกรานต์ 4 แผ่นดิน" ที่จัดกันบริเวณริมแม่น้ำโขง - แม่น้ำที่เชื่อมใจสามประเทศไว้ด้วยกัน (ไทย ลาว เมียนม่าร์) และอีกประเทศที่มีส่วนร่วมในครั้งนี้คือ จีน (ถึงแม้ไม่ได้มีพรมแดนติดกันแต่ความสัมพันธ์ก็แน่นปึ้ก รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่มีนักลงทุนจากจีนมาเช่าและพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้นให้เฟื่องฟูอีกด้วย)

ฤกษ์งามยามดีเราเดินทางออกจากโรงแรมฝั่งริมน้ำโขงเดินทางโดยรถตู้มุ่งหน้ามายังบริเวณงาน ความคึกคักมีให้เห็นเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าริมน้ำโขงที่เป็นแนวอาหารตามสั่ง จะบอกว่าเต็มแทบทุกโต๊ะ ร้านนวดในแถบนั้นก็ต้องจองคิวล่วงหน้ากันเป็นชั่วโมงๆ จุดเล่นน้ำก็ถือว่าคึกคักไม่น้อย สิ่งที่สังเกตเห็นจากในงานคือคนที่นี่เล่นน้ำกันสนุกแต่ไม่โหด เมื่อเรา (จำเป็นต้อง) เดินผ่านบริเวณที่เขาเล่น การทำท่าเลี่ยงๆของเราทำให้เขา(เหมือนจะทราบ)ว่าเราไม่อยากเปียก เขาก็ละเว้นเราไว้ ทำให้พวกเราและตากล้องแทบจะไม่เปียกเลย เป็นความประทับใจเล็กๆส่วนตัว นอกจากนี้ ถ้าเดินลงไปทางน้ำโขง อยากให้คิดภาพตามว่าร้านอาหารอยู่บนฝั่งระดับเดียวกับถนน แต่กว่าจะลงไปที่น้ำโขงจะมีช่วงตลิ่งที่เป็นพื้นที่ที่สามารถลงไปยืนเล่นได้ มีการตั้งเต็นท์และเอาเครื่องเสียงไปติด ครึกครื้นจนต้องลงไปแวะดู พบว่าพ่อแม่พี่น้องที่กำลังรำเป้ยๆอยู่นั้นส่วนมากเป็นรุ่นคุณแม่-คุณป้า ส่วนบรรดาเด็กๆนั่งเล่นน้ำคลายร้อนกันอยู่น้ำโขง แม่ๆป้าๆเหล่านี้ร้องเพลงเต้นรำกันอย่างม่วนซื่น ถามได้ความว่ามาเชียร์เพื่อนพี่น้องในหมู่บ้านที่ลงแข่งเรือยาว มีคุณแม่คนหนึ่งกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่าลูกชายสองคนของคุณแม่ได้ร่วมทีมเรือยาวด้วย พี่สาวคนหนึ่งขณะที่คุยกับเราไปมือก็แกะเมล็ดจากฝักข้าวโพดได้พอดีกำมือก็ยื่นให้กิน น่ารักมากๆ เพื่อนนักข่าวสาวชาวจีนถึงกับออกปากว่าแม่ๆป้าเหล่านี้เต็มไปด้วยพลัง จะเต้นจะฟ้อนก็แลเป็นธรรมชาติ (แน่นอนเขาไม่ได้ใช้คำว่าฟ้อนหรอก เราเอามาปรับให้เข้ากับบริบทเองแหละ) ซึ่งจะแตกแต่งจากเหล่าต้ามา (老大妈) – แม่ๆป้าๆของจีน ถ้าให้พวกเขาทำอะไรแบบนี้ก็จะออกแนวขัดเขินมากกว่า ประมาณว่าก็อยากสนุกแต่ยังเขิน ทำให้มือไม้ไม่คล่อง เต็มที่ได้ไม่สุดไม่เหมือนแม่ๆป้าๆกลุ่มนี้

เพื่อนช่างภาพลงไปที่ริมตลิ่งเพื่อเก็บภาพรอยยิ้มของเด็กๆที่กำลังเล่นน้ำ สักพักทีมหนุ่มๆที่จะลงแข่งเรือหางยาวเริ่มทยอยเดินมาเพื่อเตรียมตัวลงแข่ง แดดร้อนจัดในเดือนเมษา' ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจ้างฝีพายของเหล่าผู้เข้าแข่งขันเลยสักนิด ในฐานะชาวไทย นี่เป็นครั้งแรก (อีกแล้ว) ที่ได้มาชมการแข่งเรือยาวอย่างใกล้ชิด พ่อใหญ่คนหนึ่งเข้ามาถามเราแข่งกับเสียงตะโกนเชียร์ว่า "ร่องน้ำไหนๆ?" เวลาแข่งเรือยาวเนี่ยะ บางคนเขาจะแบ่งเป็นร่องน้ำแดง ร่องน้ำน้ำเงิน อธิบายง่ายๆก็เหมือนการแบ่งลู่วิ่งนั่นแหละ อยากรู้ว่าทีมที่เราเชียร์อยู่ร่องน้ำไหนก็ดูได้จากสีธงที่ปักอยู่ในน้ำค่ะ

เราเดินโบกมือจากมา พร้อมกับเสียงเฮของกลุ่มแม่ๆป้าๆ หลังจากทีมที่เค้าเชียร์ไล่แซงคู่แข่งมาได้หลังจากการไล่ตามในช่วงออกตัว เดินมาเรื่อยๆ หิวก็ซื้อน้ำดื่ม จะสังเกตได้ว่าร้านค้าบางร้านจะติดป้ายให้บริการสุขา คิดค่าใช้จ่าย 5 บาท (ประมาณหนึ่งหยวน) ซึ่งถ้าทนไม่ไหวจะแวะเข้าก็ถือว่าไม่ได้แพงอะไรนัก แต่ด้วยความงก เราเดินมาจนถึงวัดแห่งหนึ่ง เพื่อนๆแวะเข้าไปชมความงาม ไหว้พระ และพักขา เรารีบบอกเพื่อนว่าขอไปห้องน้ำแปบ เพราะปกติตามวัดจะมีห้องน้ำไว้บริการอยู่แล้ว หลังจากเข้าเสร็จก็หยอดเงินบริจาคให้วัดสักหน่อยเพื่อให้ไปใช้ทำนุบำรุงรักษาวัด ค่าน้ำค่าไฟต่างๆต่อไป

เดินต่อมาเรื่อยๆเกือบหน้าอำเภอ ขบวนแห่ฯเริ่มแล้ว มีทั้งขบวนสาวงาม ขบวนแห่พระ ขบวนดอกไม้ ขบวนดนตรีพื้นบ้านมากมาย ทราบความมาว่าแต่ละท้องที่ก็ตกแต่งขบวนของคนเองอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงศักยภาพของชุมชนนั้นๆแล้ว สุดท้ายใครทำดีเข้าตากรรมการมีสิทธิ์คว้ารางวัลเป็นถ้วยฯและเงินสดกลับไปเชยชมอีกด้วยค่า

สิ่งที่สังเกตได้จากขบวนแห่ฯ สงกรานต์ครั้งนี้คือคนที่มาร่วมเดินส่วนใหญ่มีสปิริตสูงมาก เช่นถึงแม้จะแต่งตัวเต็มยศ เดินใส่ส้นสูง แต่ใบหน้าก็ยิ้มแย้มต้อนรับแขกและแสงแฟลช (เขียนไปงั้นๆจริงๆร้อนแบบนั้นไม่เห็นใครใช้แฟลช) จากกล้องถ่ายรูป มีน้องๆหลายคนที่โชว์การละเล่นพื้นเมืองอย่าง "เดินกะลา" พวกเขาก็ใช้เท้าเปล่าเดินบนกะลาจริงๆและบางคนที่เดินไม่ไหวก็เอาเชือกคล้องกะลามาคล้องคอและเดินต่อไปด้วย "เท้าเปล่า" บนถนนคอนกรีต ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเป็นเราจะยอมเดินไหม แล้วถ้าจำเป็นต้องเดินจะทำอย่างไร ถามเองตอบเองเรียบร้อยว่าถ้าต้องเดินจริงๆจะพกรองเท้าแตะติดตัวด้วย เผื่อเดินๆบนกะลาอยู่แล้วเดินไม่ไหว จะได้เปลี่ยนจากการเหยียบกะลาเป็นการเหยียบ "ช้างดาว" บ้าง อย่างน้อยก็คงดีกว่าเหยียบคอนกรีตที่ระอุด้วยไอแดดแน่ๆ จินตนาการไปมาและที่สุดก็บอกกับตัวเองว่าการได้เดิน"บนกะลา" อย่างน้อยก็ดีกว่าการเดินวน "อยู่ในกะลา" ตั้งเยอะแล้วล่ะ

แดดร่มลมตกช่วงบ่ายสามบ่ายสี่ ผู้คนก็เริ่มไปออกตรงเวที เพราะกำลังจะมีการประกวดนางสงกรานต์และพิธีมอบรางวัลแข่งเรือยาวและขบวนแห่ฯ จากสายตาคะเนได้ว่าคนมาร่วมงานเป็นชาวไทยมากที่สุด มีต่างชาติบ้างประปราย แต่ไม่แน่นะ เรดาร์เราอาจจะผิดพลาดได้ เพราะคนแถวนี้หน้าตาก็คล้ายๆกันไปหมด หากไม่ได้ยินเขาพูดเราคงเดายากว่าใครมาจากที่ไหนกันแน่ ด้วยความอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน เราจึงได้ไปขอให้ทางคุณพินิจ แก้วจิตคงทอง นายอำเภอของเมืองเชียงแสน ช่วยอธิบายให้ฟัง ซึ่งคุณพินิจได้บอกกับทางเราว่า สงกรานต์เชียงแสนนี่เล่นกันมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็นสงกรานต์ 4 ชาติเมื่อปีพ.ศ. 2554 สำหรับปีนี้ การแข่งขันเรือยาวมีทีมจากลาวมาเข้าร่วมด้วย คาดหวังว่าปีต่อๆไป จะมีประเทศอื่นสนใจและสมัครมาเข้าร่วมมากขึ้น การจัดงานในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการสืบสานประเพณีการเล่นสงกรานต์แล้ว ต้องบอกว่าทางอำเภอเชียงแสนและเทศบาลเวียงเชียงแสน จ.เชียงราย ต้องการที่จะประชาสัมพันธ์เชียงแสนให้เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวสู่ประตูแม่น้ำโขงและเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น

คุณเจ้าเวย นักธุรกิจชาวจีนผู้ลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำกล่าวถึงงานในครั้งนี้ว่าได้พาทีมงานชาวจีนมาร่วมงานประมาณ 30 คน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เชียงแสนและพื้นที่บริเวณนี้ได้พัฒนาขึ้นมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 7 ปีก่อน การมาทำธุรกิจในแถบนี้ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศจีน มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของลาวและสร้างงานในท้องถิ่นได้พอสมควร ก่อนจะกล่าวคำอำลาเพื่อขึ้นรถกลับมายังสนามบิน คุณอับบาส นักธุรกิจชาวออสเตรเลียเชื้อสายมาเลย์ที่มาร่วมงานฯได้บอกกับเราว่า อยากให้จับตามองเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำนี้ไว้ และถ้ามีโอกาสอยากให้มาเยือนเชียงแสนทุกปี และทุกครั้งที่มาเราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของที่นี่

ระหว่างการเดินทางกลับมายังสนามบิน พวกเรายังคงส่งเสียงเจื้อยแจ้ว แลกเปลี่ยนสิ่งที่พบเห็นในวันนี้อย่างออกรสชาติ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าไม่ใช่แค่เราหรอกที่ประทับใจ เพื่อนๆชาวจีนที่มาด้วยก็ประทับใจใน "เชียงแสน" ด้วยเช่นกัน เชื่อว่าความทรงจำดีๆ ในวันที่อากาศร้อนระอุในเดือนที่ร้อนที่สุดของปีในจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของประเทศจะยังคงติดตรึงใจเราไปอีกนาน

 

 

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040