ธนาคารโลกได้กำหนดเส้นความยากจนล่าสุดคือ 1.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างด้านต้นทุนการใช้ชีวิตของประเทศต่างๆ ตามมาตรฐานเส้นความยากจนใหม่ ธนาคารโลกจึงคาดว่า ประชากรผู้ยากจนทั่วโลกจะลดลงจาก 902 ล้านคนของเมื่อปี 2012 มาเป็น 702 ล้านคนในปี 2015 ทำให้สัดส่วนประชากรผู้ยากจนต่อประชากรทั่วโลกลดลงจาก 12.8% มาเป็น 9.6%
นายจิม ยอง คิม (Jim Yong Kim) ประธานธนาคารโลกกล่าวว่า ผลสำเร็จของการลดความยากจนเป็นขนานใหญ่ ได้มาจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประเทศกำลังพัฒนาในปีหลังๆ นี้ อีกทั้งมีการเพิ่มการลงทุนด้านการศึกษาและสาธารณสุข ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความมั่นคงของสังคม แต่เขาก็เตือนว่า เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประชากรผู้ยากจนของโลกในปัจจุบัน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทสที่อ่อนแอและถูกผลกระทบจากการปะทะต่างๆ ดังนั้น การขจัดความยากจนสุดขีดในโลกยังคงเป็นเป้าหมายที่บรรลุได้ยากมากทีเดียว
เมื่อเดือนเมษายนปี 2013 คณะกรรมการธนาคารโลกได้กำหนดเป้าหมายสำคัญสองเป้าหมายคือ จนถึงปี 2030 ขจัดความยากจนสุดขีดและเพิ่มรายได้ของประชากร 40% ที่อยู่ใต้เส้นความยากจน เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา มีประชากรผู้ยากจนครองสัดส่วน 95% ของประชากรผู้ยากจนทั่วโลก แต่ปัจจุบัน โครงสร้างความยากจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ เมื่อปี 1990 ประชากรผู้ยากจนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกครองสัดส่วนเกือบ 50% ของโลก และภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาราครองสัดส่วนประมาณ 15% แต่การคาดการณ์ของปี 2015 ปรากฏว่า เอเชียตะวันออกครองสัดส่วนเพียง 12% แอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาราครองสัดส่วน 50% ของโลก แม้ว่าอัตราความยากจนของพื้นที่ส่วนใหญ่ลดลงบ้าง แต่สภาพความยากจนในประเทศที่มีการปะทะค่อนข้างมากคงขจัดได้ยากมาก
(In/Lin)