สำนักข่าวซินหวารายงานว่า การประชุมผู้นำว่าด้วยความร่วมมือของเอเชียตะวันออกจะจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียในเร็วๆ นี้ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนจะเดินทางไปร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้มี 3 ประเด็นสำคัญได้แก่ การพัฒนาความร่วมมือ การฟื้นฟูแนวโน้มการพัฒนา และการให้ความสนใจในการพัฒนา
การพัฒนาความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยนายเจียง รุ่ยผิง รองอธิการบดีสถาบันการศึกษาทางการทูตแห่งประเทศจีนกล่าวว่า การพัฒนาของอาเซียนและการพัฒนาของจีนต่างมีวาระสำคัญ สองฝ่ายควรรักษาแน้วโน้มความร่วมมือที่ดี วางแผนใหม่เพื่อความร่วมมือที่ลุ่มลึกยิ่งขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า
ในที่ประชุมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทั้งจีนและต่างประเทศที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายหลิว เจิ้นหมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนแนะนำว่า ในระหว่างการประชุมผู้นำจีน-อาเซียน (10+3) ครั้งที่ 18 นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนจะบรรยายนโยบายทางการทูตของจีนที่มีต่ออาเซียน ส่งเสริมการปฏิบัติตามข้อริเริ่มด้านการสร้างประชาคมแห่งชะตากรรมจีน-อาเซียนที่มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 และกรอบความร่วมมือ 2+7 จีน-อาเซียน เป็นต้น โดยจะส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิต และการเชื่อมโยงติดต่อกัน ยกระดับความสัมพันธ์จีน-อาเซียนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นที่สองได้แก่ ฟื้นฟูแนวโน้มความร่วมมือในเอเชียตะวันออก ซึ่งเมื่อต้นเดือนนี้ กลไกการประชุมผู้นำจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เริ่มใหม่ที่กรุงโซลของเกาหลีใต้หลังจากหยุดเป็น 3 ปี นายหลิว เจิ้นหมิน แนะนำว่า ในที่ประชุมผู้นำ 10+3 ปีนี้ จีนจะส่งเสริมให้ฝ่ายต่างๆ ปฏิบัติตามแผนการที่เกี่ยวข้อง พัฒนาความร่วมมือในด้านเดิม เช่น การคลัง การเงิน และความปลอดภัยของธัญญาหาร พร้อมขยายความร่วมมือในด้านใหม่ เช่น การเชื่อมโยงและติดต่อกัน ศักยภาพด้านการผลิตระหว่างประเทศ กิจการทางมหาสมุทร การช่วยขจัดความยากจน ทรัพยากร และการกู้ภัย เป็นต้น ส่งเสริมกระบวนการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค หรือ RCEP และกระบวนการเจรจาเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ พยายามบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกในปี 2020 ให้ได้
ประเด็นสำคัญที่สามคือ ให้ความสนใจในการพัฒนา นายหลิว เจิ้นหมิน กล่าวว่า ภายใต้สภาพการณ์ที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างยากลำบาก การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ต้องอาศัยการปรับปรุงโครงสร้างพร้อมเผชิญกับแรงกดกันจากภายนอกนั้น การประชุมผู้นำเอเชียตะวันออกควรเน้นปัญหาการพัฒนาเป็นพิเศษ ดังนั้น จีนจะวางแผนส่งเสริมให้เอเชียตะวันออกมีการเติบโตอย่างมั่นคง และถือเป็นแนวความคิดหลักในการร่วมประชุม
Yim/Ldan