สหรัฐฯ จะยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมัน FED เพิ่มอัตราดอกเบี้ย โอเปครักษาปริมาณการผลิตสูง อิหร่านกลับสู่ตลาดสากล ฤดูหนาวอุ่น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดสากลที่ลอยตัวอยู่ในราคาต่ำถูกกระทบกระเทือนอีก เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบในตลาดเบรนท์(brent oil)ที่ลอนดอน อังกฤษร่วงลงมาอยู่ที่ 36.17 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา ส่วนราคาน้ำมันดิบซื้อขายล่วงหน้าในตลาดนิวยอร์กต่ำกว่า 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ต่ำกว่า 35 ดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2009 เป็นต้นมา
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันตกครั้งนี้ คือ FED ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันที่ใช้มา 40 ปีแล้ว
ตลาดน้ำมันสากลจำหน่ายเป็นดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ FED เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ดอลลาร์สหรัฐเพิ่มค่าขึ้น ทำให้ยุโรป ญี่ปุ่นและจีนมีกำลังซื้อและความต้องการน้ำมันลดลง จนส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดสากล
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา สองสภาของสหรัฐฯ ผ่านญัตติยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันดิบ ที่ใช้มาแล้ว 40 ปี ทำให้ราคาน้ำมันมีแรงกดดันมากยิ่งขึ้น ญัตติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายหลังประธานาธิบดีโอบามาลงนาม ทำเนียบขาวได้แสดงว่า สนับสนุนญัตตินี้แล้ว
เมื่อต้นทศวรรษปี 1970 เนื่องจากวิกฤตน้ำมัน ราคาน้ำมันภายในประเทศสหรัฐฯ สูงขึ้นเป็นอย่างมาก เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ สหรัฐฯ จึงประกาศใช้ "นโยบายพลังงานและกฎหมายว่าด้วยการประหยัดพลังงาน" เมื่อปี 1975 ควบคุมการส่งออกน้ำมันดิบอย่างเข้มงวด แต่ปีหลังๆ นี้ สหรัฐฯ มีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างมาก ปี 2015 สหรัฐฯ อาจจะเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว
จากประเทศนำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดไปเป็นประเทศผลิตน้ำมันมากที่สุด และเป็นประเทศส่งออกน้ำมันมากที่สุด สหรัฐฯ เป็นผู้ที่สร้างแรงกดดันเปลี่ยนราคาน้ำมันในตลาดโลก
Toon/LR