รางวัลดังกล่าวมีจำนวน 20 รางวัล ผู้ได้รางวัลมีทั้งจีนและอาเซียน โดยประธานมอบรางวัล คือ นายหลิว กู่ชาง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และ นายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน
นายหลิว กู่ชางระบุว่า ผู้ประกอบการที่ได้รางวัลไม่เพียงแต่เป็นผู้ชำนาญด้านการใช้โอกาสทางธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไรจากการค้าระหว่างจีน-อาเซียนเท่านั้น หากยังเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่นนั้นๆ ไปพร้อมกับมุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
พิจารณาจากรายชื่อผู้ได้รับรางวัล จะเห็นได้ถึงประเด็นร้อน ประเด็นที่มีส่วนเกื้อกูลกัน ทิศทางหลักด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียน
"ผู้ประกอบการจีนที่ประสบความสำเร็จในอาเซียน" ส่วนใหญ่จะเป็นรัฐวิสาหกิจจีนสาขาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และลาวค่อนข้างมาก ปัจจุบันพร้อมไปกับการเดินหน้ายุทธศาสตร์ "1 แถบ 1 เส้นทาง" รัฐวิสาหกิจจีนสาขาโครงสร้างพื้นฐานก็จะยกทัพสู่ตลาดอาเซียนอย่างไม่ลังเล
ส่วน "ผู้ประกอบการอาเซียนที่ประสบความสำเร็จในจีน" ที่มาจากไทยและสิงคโปร์นั้น โดยมากเป็นผู้ประกอบการสาขาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์และสาขาการเงิน เช่น ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นที่โดดเด่นสะดุดตามากที่สุด และสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการอาเซียนจมูกไวต่อตลาดที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ของจีนรวมถึง วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของจีนที่มีความเดือดร้อนด้านสินเชื่อและเงินทุน
สถิติจากคณะกรรมการธุรกิจจีน-อาเซียนระบุว่า ในปี 2015 ที่เพิ่งผ่านไป ยอดการค้าจีน-อาเซียนมีมูลค่า 427,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 11.9 ของยอดการค้าจีนกับต่างประเทศทั้งหมด ที่สำคัญกว่านั้นคือ ทั้งสองฝ่ายได้ปรับจากการมุ่งปริมาณและมูลค่ามาเป็นการมุ่งยกระดับคุณภาพกิจการ มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนด้วยพลังสร้างสรรค์ใหม่ ซึ่งเป็นดัชนีใหม่ในการวัดความร่วมมือเศรษฐกิจและการค้าจีน-อาเซียน
(YIM/LING)