ตลอดช่วงกว่า 30 ปีนับตั้งแต่จีนดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว สังคมก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สั่งสมมานานก็นับวันร้ายแรงยิ่งขึ้น สรุปคือ มลพิษทางสิ่งแวดล้อมร้ายแรง ความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมสูง และระบบนิเวศสูญเสียมาก โดยมลพิษทางอากาศกลายเป็น "ภัยคุกคามหัวใจและปอด" ที่ชาวจีนวิตกกังวลมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ ปีหลังๆ นี้ จีนได้ประกาศใช้กฎข้อบังคับและมาตรการต่างๆ บำบัดมลพิษทางอากาศตั้งแต่ต้นเหตุถึงปลายเหตุ สถิติระบุว่า จนถึงปลายปี 2015 ปริมาณการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ส์ (nitrogen oxides) จากกิจการไฟฟ้าพลังถ่านหินทั่วประเทศมีการลดลงร้อยละ 47 และร้อยละ 50 ระดับความเข้มเฉลี่ยของพีเอ็ม2.5 ใน 74 เมืองลดลงร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ว่ามลพิษทางอากาศของพื้นที่บางส่วนยังคงร้ายแรง โดยเฉพาะคือ เกิดเหตุมลพิษทางอากาศร้ายแรงต่อเนื่องกันเป็นเวลานานและเป็นบริเวณกว้าง 3 ครั้งในกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ยและบริเวณโดยรอบเมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งนี้ นายเฉิน เจี๋ยหนิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจีนระบุว่า ปีนี้ทางกระทรวงฯ จะออกมาตรการที่ตรงจุดมากขึ้นเพื่อบำบัดควันพิษกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย เขาระบุว่า
"จะมุ่ง 5 เรื่องเป็นหลัก คือ หนึ่ง ดำเนินการรับมือกับมลพิษทางอากาศร้ายแรงให้ดี โดยได้เริ่มโครงการ '2+4' คือ ให้ปักกิ่งกับเทียนจินผนึกกำลังกับเป่าติ้ง หลางฝาง ถังซาน และชางโจว ใช้มาตรฐานการเตือนภัยและการรับมือที่เป็นหนึ่งเดียวก่อนวันที่ 15 มีนาคมปีนี้ สอง ให้เข้าถึงข้อมูลการติดตามสำรวจมากขึ้น สาม บังคับให้ระบบการติดตามสำรวจของรัฐวิสาหกิจทั่วกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ยต้องเชื่อมกับระบบของกระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สี่ กำกับบริหารยานยนต์อย่างเข้มงวด และห้า ดำเนินโครงการตรวจสอบภาวะอากาศเป็นการเฉพาะ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการแล้ว"
(YIM/LING)