ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ต่อจากครั้งก่อนที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ปี 2014 ซึ่งครั้งนั้น นายสี จิ้นผิงได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของจีนว่า "ควรยึดหลักการส่งเสริมและรักษาความมั่นคงไปพร้อมกัน ยึดหลักสิทธิประโยชน์และอำนาจหน้าที่ไปพร้อมกัน ยึดหลักการกำหนดด้วยตนเองและการให้ความร่วมมือไปพร้อมกัน และยึดหลักการแก้ปัญหาจากทั้งต้นเหตุและปลายเหตุไปพร้อมกัน" ซึ่งได้รับความชื่นชมจากประชาคมโลก นายหลี่ เป่าตง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า ระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะกล่าวสุนทรพจน์นำ ชี้แจงนโยบายและข้อเสนอของจีนทุกด้าน รวมถึงมาตรการและผลสำเร็จใหม่ๆ ของจีนด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ทั้งจะเสนอข้อริเริ่มเกี่ยวกับการเพิ่มพูนความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของโลกอย่างจริงจังด้วย
นายเฉิน ข่าย นายกสมาคมการควบคุมและลดกำลังทหารแห่งประเทศจีน(China Arms Control and Disarmament Association, CACDA)ระบุว่า แต่ไหนแต่ไรมาจีนก็ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางนิวเคลียร์อย่างมาก ปรับระบบความมั่นคงทางนิวเคลียร์แห่งชาติให้สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ และเสริมสร้างศักยภาพด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ให้เข้มแข็งขึ้น ปฏิบัติตามพันธกรณีและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับโลกอย่างจริงจังและเข้มงวดทุกด้าน จีนได้จัดความมั่นคงทางนิวเคลียร์ไว้ในระบบความมั่นคงรวมของประเทศ ทั้งจัดเป็นส่วนสำคัญของการรักษาความมั่นคงแห่งชาติและการปราบปรามการก่อการร้าย พร้อมกันนี้ กำลังเดินหน้าบัญญัติกฎหมายว่าด้วยพลังงานปรมาณูและกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ จีนให้ความสำคัญกับการรักษาระดับการใช้สารยูเรเนียมเข้มข้นมาก และจะลดการใช้สารยูเรเนียมเข้มข้นเท่าที่จะลดได้เมื่อมีความพร้อมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี
ดร.ฝาน จี๋เซ่อ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยยุทธศาสตร์ สถาบันสหรัฐอเมริกาศึกษา สภาวิทยาศาสตร์สังคมแห่งประเทศจีนระบุว่า "จีนได้รักษาความมั่นคงทางนิวเคลียร์มาโดยตลอด และไม่เคยลดลงแม้แต่น้อย ซึ่งเป็นการช่วยรักษาความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของโลก"
(TOON/LING)