ช่วงระหว่างวันที่ 19 มี.ค. - 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงให้บริการรับเทศกาลเช็งเม้งประจำปีของกรมกิจการพลเรือนกรุงปักกิ่ง ซึ่งปีนี้วันเช็งเม้งตรงกับวันจันทร์ที่ 4 เมษายน ดังนั้น ช่วงหยุดสุดสัปดาห์ 26-27 มี.ค. และ 2-4 เม.ย. นับเป็นช่วงพีคสุดของการทำงาน
ข้อมูลสถิติระบุ ปัจจุบันกรุงปักกิ่งมีการฝังศพเชิงนิเวศเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45.88 แล้ว คาดว่าถึงปี 2020 จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 50 และเมื่อถึงเวลานั้น การไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ การนำอัฐิไปลอยอังคารก็จะได้รับการยอมรับจากผู้คนมากขึ้น ซึ่งสุสานในจีนแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ สุสานในชนบทกับสุสานในเมือง โดยสุสานในชนบทจะเป็นสุสานแบบสาธารณประโยชน์ที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเปล่านอกเหนือจากพื้นที่ทำเกษตร ปกติจะสร้างบนเขาที่แห้งแล้งและไม่เสียค่าใช้จ่าย
ส่วนสุสานในเมืองจะมีแบบสาธารณประโยชน์กับแบบดูแลจัดการโดยภาคเอกชน ซึ่งแบบแรกจะเป็นสถานที่สำหรับเก็บเถ้ากระดูกของกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำโดยเฉพาะ ซึ่งนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป สุสานที่ดูแลจัดการโดยภาคเอกชนทั่วกรุงปักกิ่งทั้ง 33 บริษัทจะจัดให้มีเขตโปรยอัฐิด้วย นอกจากนี้ สุสานในกรุงปักกิ่งจากเดิมมี 184 แห่งได้เพิ่มเป็น 213 แห่งแล้ว โดยจะมีที่เก็บอัฐิกว่า 820,000 ช่อง เพิ่มจากปีก่อน 37,000 ช่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตปาเป่าซาน ส่วนที่เป็นหลุมสุสานส่วนใหญ่จะอยู่ที่เขตชางผิง ดังนั้น จึงเป็นเขตหลักที่มีผู้คนเดินทางไปมากในช่วงเช็งเม้งที่ผ่านมา โดยสุสานแบบสาธารณประโยชน์ของปักกิ่งจะอยู่ที่เขตชานเมืองอย่างซุ่นอี๋และผิงกู่ จึงถือเป็นจุดสำคัญที่รองรับผู้คนในช่วงเทศกาลที่ผ่านมาเช่นกัน
สำหรับการฝังศพเชิงนิเวศในปักกิ่งที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 45 นั้น นายหลี่หงปิง รองอธิบดีกรมกิจการพลเรือนปักกิ่งแนะนำเพิ่มเติมว่า ระหว่างปี 1994 ถึง 2015 ที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งจัดกิจกรรมลอยอังคารร่วม 339 ครั้ง มีกว่า 13,700 อัฐิถูกนำไปลอยในทะเล เฉพาะปีที่ผ่านมามีการลอยอังคารทะลุกว่า 2,000 อัฐิ คิดเป็นร้อยละ 2.21 ของการทำฌาปนกิจศพทั้งหมดในปีเดียวกัน ทั้งนี้ สถานที่สำหรับลอยอังคารคือที่ทะเลป๋อไห่ ซึ่งไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย และมีญาติมิตรเดินทางไปร่วมกิจกรรมลอยอังคารด้วยได้ไม่เกิน 6 คน หากเกินกว่านี้จะมีค่าใช้จ่าย
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府
ลิงค์เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา: ของไหว้ทันโลก เอาใจคนทันสมัย