ประเทศไทยลือชื่อด้วยความได้เปรียบในการถ่ายทำและตัดต่อภาพยนตร์อย่างมีคุณภาพสูงแต่ต้นทุนต่ำมาเป็นเวลาเนิ่นนาน หนังฮอลลีวู๊ดเลื่องชื่อ เช่น "The Man With The Golden Gun" และ "The Killing Fields" ช่วงทศวรรษ 1970 – 1980 ล้วนถ่ายทำในเมืองไทย นับเป็นสัญลักษณ์ที่ฮอลลีวู๊ดเปิดประตูแห่งการไปผลิตหนังในเมืองไทย ขณะเดียวกัน ก็มีส่วนช่วยต่อการผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้พัฒนาอย่างรวดเร็ว
รัฐบาลไทยระบุว่า ก่อนที่เดินทางไปประเทศไทย ทีมงานผลิตหนังทุกทีมจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตให้ถ่ายทำในไทยจากกองกิจการภาพยนตร์ เอกสารที่ยื่นขอ รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกทีมที่จะเดินทางไปเมืองไทย สถานที่ถ่ายทำ และตารางการทำงานในไทย แถมยังต้องจับคู่กับบริษัทผู้ช่วยถ่ายทำของไทยในการทำงานในเมืองไทย นอกจากนี้ บทภาพยนตร์ก็ต้องส่งไปให้คณะกรรมการตราจสอบภาพยนตร์แห่งชาติพิจารณาล่วงหน้า ฟังดูเหมือนยาก แต่ปกติแล้วสัดส่วนบทภาพยนตร์ที่ทางคณะกรรมการฯ ปฏิเสธไม่เกิน 1%
ในสายตาผู้ผลิตหนังของจีน การยื่นขอใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ในเมืองไทยนั้น มีความเป็นไปได้สูงกว่าและทำได้รวดเร็วกว่าหลายประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาคำยื่นขอของทีมงานถ่ายทำต่างชาติ กองกิจการภาพยนตร์ได้จัดตั้งศูนย์บริการทีมงานผลิตหนังต่างชาติโดยเฉพาะ ตั้งแต่เปิดดำเนินการเป็นต้นมา ศูนย์บริการแห่งนี้ก็ได้รับจดหมายขอถ่ายทำในไทยจากทีมงานผลิตหนังต่างชาติอย่างไม่ขาดสาย โดยแต่ละเดือนจะพิจารณาคำขอ 70 – 80 ฉบับ
ความโปร่งใสและประสิทธิภาพสูงของการพิจารณาและอนุมัติคำขอของทีมงานผลิตหนังต่างชาติ เป็นหลักประกันคุณภาพการทำงานในเมืองไทยของทีมงานผลิตหนังต่างชาติ จริงๆ แล้ว ที่เมืองไทยมีบริษัทผู้ช่วยถ่ายทำดีๆ กว่า 300 บริษัทให้เลือกได้อย่างสะดวก ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนมีประสบการณ์ดีในการร่วมทำงานกับทีมงานผลิตหนังต่างชาติ
นายจาง ต้ง ผู้จัดการบริษัท Artop สาขาประเทศไทยกล่าวว่า ภายหลังร่วมทำงานกับบริษัทในเครือข่ายฮอลลีวู๊ดต่อเนื่องกันหลายปี อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีความสมบูรณ์และค่อนข้างพัฒนาในปัจจุบัน โดยได้ผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการถ่ายทำ และคุ้นเคยกับระบบการทำงานของฮอลลีวู๊ดจำนวนมาก เป็นเหตุให้บริษัทผลิตภาพยนตร์ไทยมีศักยภาพการแข่งขันสูงกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทผลิตภาพยนตร์ของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ
สำหรับทีมงานผลิตหนังต่างชาติที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ หากตัดสินใจไปผลิตหนังที่เมืองไทย ไม่ต้องขนส่งอุปกรณ์ถ่ายทำใหญ่น้อยไปให้เหน็ดเหนื่อย และสามารถหาตากล้อง ช่างไฟ ผู้ช่วยของดารา นักแสดงประกอบ และเจ้าหน้าที่ตัดต่อภาพผ่านบริษัทผู้ช่วยถ่ายทำของไทยได้สะดวกง่ายดายมากด้วย ช่วยให้ผู้ผลิตหนังต่างชาติประหยัดต้นทุนได้ไม่น้อยทีเดียว
บริษัทเหล่านี้ต่างมีความถนัดในการถ่ายทำเฉพาะด้าน บางบริษัทมีประสบการณ์สูงในการถ่ายโฆษณา บางบริษัทเชี่ยวชาญกับการผลิตภาพยนตร์สารคดี บางบริษัทความเหนือกว่าในการใช้ภาษาต่างประเทศ ทีมงานถ่ายทำต่างชาติจึงคัดสรรตามความต้องการได้อย่างสะดวกสบาย
ทัศนียภาพที่สวยงามและวัฒนธรรมอันหลากหลาย เป็นมนต์เสน่ห์อย่างสูงของไทยในฐานะประเทศผลิตภาพยนตร์ ทางภาคเหนือมีภูเขาที่สวยแตกต่างจากจีน ภาคอีสานมีถ้ำและน้ำตกสายธารที่มีเอกลักษณ์ของเมืองร้อน ส่วนทางภาคใต้ก็มีชายหาดและน้ำทะเลที่สวยใส สามารถตอบสนองความต้องการถ่ายภาพยนตร์เกือบทุกรูปแบบ
นอกจากนี้แล้ว สิ่งปลูกสร้างอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง เครือข่ายอินเตอร์เน็ต ภัตตาคารและโรงแรมที่พักที่ดีมีมาตรฐาน ประกอบกับภูมิอากาศที่เย็นสบายและอาหารแสนเอร็ดอร่อย ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ทีมงานผลิตหนังทั่วโลกพากันเดินทางไปสร้างผลงานดีเด่นในเมืองไทย
ปีหลังๆ นี้ อุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ตลาดจีนที่มีผู้ชมมหาศาลสร้างอนาคตอันสดใสสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน สิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ของไทย เริ่มสร้างกระแสนิยมในกลุ่มผู้ชมเยาวชน โดยเฉพาะผลงานตัดต่อหลังถ่ายภาพยนตร์ในประเทศไทย ได้รับเสียงชื่นชมระดับสูงจากบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ของจีนอย่างกว้างขวาง การดำเนินความร่วมมือด้านการถ่ายทำภาพยนตร์ระหว่างจีนกับไทยนับว่ามีรากฐานที่ดี
นอกจากนี้ ประเทศจีนกับไทยมีความใกล้ชิดผูกพันกันอย่างดี ประชาชนสองประเทศก็สนิทกันเหมือนพี่น้อง มีวิถีชีวิต ค่านิยม ขนบธรรมเนียมและประเพณีที่คล้ายคลึงกัน ภาพยนตร์เป็นเสมือนสะพานเชื่อมต่อการแลกเปลี่ยนและความเข้าใจโดยตรงระหว่างประชาชนสองประเทศ สองฝ่ายให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการแลกเปลี่ยนผลงานยอดเยี่ยมด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในการถ่ายทำภาพยนตร์และโทรทัศน์จีน-ไทยย่อมมีอนาคตอันกว้างไกล