ความร่วมมือจีน-อาเซียนประสบความสำเร็จน่าพอใจ
  2016-06-14 15:58:01  cri
วันที่ 14 มิถุนายนนี้ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-อาเซียนนัดพิเศษจัดขึ้นที่มณฑลยูนนาน วันเดียวกัน หนังสือพิมพ์ เหรินหมินรึเป้าของจีนตีพิมพ์บทความสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์แห่งชาติกัมพูชาในหัวข้อ "ความร่วมมือจีน-อาเซียนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ" โดยมีเนื้อหาดังนี้

ปีนี้เป็นปีครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์คู่เจรจาจีน-อาเซียน ช่วง 25 ปีมานี้ จากการก่อตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน การดำเนินยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง การก่อตั้งกลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เศรษฐกิจจีน-อาเซียนได้รวมตัวและพัฒนาเจริญขึ้นด้วยอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูงพร้อมกัน ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าใหญ่สุด และแหล่งเงินทุนต่างประเทศหลักของอาเซียน

อาเซียนและจีนได้รับประโยชน์ร่วมกันจากความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค นับตั้งแต่ปลายทศวรรษปี 1990 เป็นต้นมา จีนเร่งกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ เพื่อรักษามิตรสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเกิดวิกฤตการเงินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 1997 จีนไม่เพียงแต่ไม่ได้ลดค่าเงินหยวน หากยังยื่นมือช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคนี้ให้พ้นจากวิกฤตด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจและการเงิน จีนกลายเป็นหุ้นส่วนและผู้สนับสนุนที่สำคัญในการพัฒนาอาเซียน อีกทั้งยังมีบทบาทมากในการช่วยลดช่องว่างระหว่างสมาชิกอาเซียน ขณะเดียวกัน การมีเสถียรภาพ และการรวมตัวของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้สร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีต่อการเพิ่มบทบาทของจีนบนเวทีโลก

หลายปีมานี้ จีนทุ่มกำลังมากในการเพิ่มความเชื่อถือทางยุทธศาสตร์ และการสร้างกลไกความร่วมมือกับอาเซียน เช่น เมื่อปี 1997 ผู้นำจีน-อาเซียนตกลงกันระหว่างการประชุมผู้นำจีน-อาเซียนว่า จะสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนที่มุ่งสู่ศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างความเชื่อถือฉันประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อปี 2003 จีนเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมสนธิสันญาความร่วมมือฉันมิตรระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านของจีนในระดับลึก หลังจากนั้น จีน-อาเซียนได้พัฒนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

จีนยังได้เข้าร่วมกลไกความมั่นคงของภูมิภาคนี้อย่างแข็งขัน เช่น การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนกับคู่เจรจา (ADMM+) โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสนับสนุนประเทศในภูมิภาคนี้พัฒนาขีดความสามารถให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อจะได้รับมือกับภัยธรรมชาติ อาชญากรรมข้ามชาติ โรคติดต่อ และปัญหาร้ายแรงอื่นๆ

บทความนี้ยังกล่าวว่า จีนและอาเซียนล้วนไม่อยากเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อันตึงเครียดในทะเลจีนใต้ จึงต้องพยายามหาทางใหม่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความมั่นคงที่ผันแปรอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทั้งสองฝ่ายต้องเพิ่มความเชื่อถือกัน เคารพซึ่งกันและกัน และดำเนินยุทธศาสตร์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องให้ประโยชน์ของแต่ละประเทศสอดคล้องกับประโยชน์ของภูมิภาคนี้ด้วย

(TOON/cai)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040