กรุงเทพฯ– หลังจากการแข่งขันรอบคัดเลือกที่เฟ้นหานักเรียนไทยผู้สนใจภาษาและศิลปวัฒนธรรมจีน จากจำนวนผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดกว่าหมื่นคน
ในที่สุดการแข่งขันก็เดินทางมาถึงรอบชิงชนะเลิศ โดยมีนักเรียนนักศึกษาที่ฝ่าฟันมาถึงรอบนี้ทั้งหมด 17 คนเข้าร่วมประลองฝีมือ
การแข่งขันความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนชิงถ้วยเอกอัครราชทูตจีนประจำปี 2559 (大师杯) ได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำเทศไทยและกระทรวงศึกษาธิการของไทย และได้ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯร่วมกับตัวแทนฮั่นปั้นในประเทศไทยเป็นผู้จัดงานและสนับสนุนสถานที่ในการจัดงาน จัดขึ้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศและพิธีแจกรางวัล มีนายนิ่ง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประขาชนจีนประจำประเทศไทยและนางสุขนิษฐ์ ปิยะวิทยานนท์ ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการของไทยเข้าร่วมงาน
นางสุขนิษฐ์ ปิยะวิทยานนท์ ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่ากระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับภาษาต่างประเทศ ซึ่งนอกจากภาษาอังกฤษแล้วยังมีอีกภาษาหนึ่งที่มีผู้คนนิยมใช้กันทั่วโลกนั่นคือภาษาจีน ทางกระทรวงพยายามสนับสนุนให้เด็กไทยได้มีพื้นฐานภาษาจีนรวมถึงสนับสนุนให้เรียนมากขึ้นในระดับสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีระดับโลก การแข่งขันความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนชิงถ้วยเอกอัครราชทูตจีนมีส่วนช่วยให้นักเรียนนักศึกษามีเวทีในการแสดงออก เป็นแรงผลักดันให้มีความพยายามมากขึ้น และเป็นกำลังใจ ประสบการณ์ที่ดีสำหรับทุกคน
การแข่งขันดำเนินไปอย่างเข้มข้น ตื่นเต้นและสนุกสนาน ทั้งตัวผู้เข้าแข่งขันเองและผู้มาให้กำลังใจและร่วมชม สุดท้ายผู้เข้าแข่งขันที่ชนะใจกรรมการได้รางวัลชนะเลิศไปครอง ได้แก่ นายวราวุฒิ สัมพันธมิตร หรือจิ่นเทียน นักศึกษาชายปี 2 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ผู้ซึ่งหลงใหลในศิลปวัฒนธรรมจีน เขาทำการเรียนรู้การแสดงงิ้วปักกิ่งและสามารถพิชิตใจกรรมการไปได้ หลังจบการแข่งขัน จิ่นเทียนให้สัมภาษณ์ว่าเขาดีใจมากที่ได้รับตำแหน่งชนะเลิศในวันนี้ ส่วนตัวเขาไม่มีเชื้อจีนและไม่เคยเดินทางไปยังประเทศจีนเลย บุคคลที่ต้องขอบคุณมากที่สุดคืออาจารย์ของสถาบันขงจื่อที่ได้ช่วยฝึกสอน โดยทุกวันเมื่อเลิกเรียนเขาต้องไปที่สถาบันเพื่อฝึกซ้อมเตรียมตัวเข้าแข่งขัน ความฝันของจิ่นเทียนคือการได้ไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาที่ประเทศจีน
แน่นอนว่าตามกติกาผู้เข้าแข่งขันทุกคนมีสัญชาติไทย แต่ก็มีเชื้อชาติแตกต่างกันไป บางคนเป็นชาวไทยเชื้อสายตะวันออกกลางแต่ก็สามารถพูดภาษาจีนได้ดีและมีความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง สำหรับผู้มีสิทธิเข้าแข่งขันในรายการนี้จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ อายุ 15-30 ปี สัญชาติไทย เกิดและเติบโตที่ประเทศไทย ไม่ได้เรียนอยู่ในสถานศึกษาที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาหลัก ในการแข่งขันใช้สองภาษาคือไทยและจีน วิธีในการแข่งมีทั้งการกล่าวปาฐกถา ถามตอบความรู้ แสดงศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ แบ่งรุ่นการแข่งขันเป็นระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ผู้เข้าแข่งขันในรอบรองชนะเลิศที่มีคะแนนดีที่สุด 9 คนแรก รวมทั้งหมด 18 คนจะผ่านเข้าสู่รองชิงชนะเลิศในลำดับต่อไป ซึ่งจะไม่ใช้ระบบแบ่งตามอายุเหมือนในรอบที่ผ่านมา
เรียบเรียงและรายงาน:
อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿
ภาพ:
พันธสัญญา โชติธนพุทธิพงษ์