วันเดียวกัน สหภาพยุโรปจัดประชุมหารือเรื่องการรับมือกับการที่อังกฤษลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป อีกทั้งวางแผนในขั้นต่อไป นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษไม่ได้ร่วมประชุม นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรปแถลงต่อสื่อมวลชนว่า ในวาระที่สำคัญของสหภาพยุโรป ผู้นำประเทศต่างๆ ได้อภิปรายกันอย่างสุขุมและจริงจัง และต่างเห็นว่า อังกฤษควรถอนตัวออกไปอย่างมีขั้นตอน ต่อไป หากสหภาพยุโรปกับอังกฤษจะเซ็นสัญญาใดๆ จะถืออังกฤษเป็นประเทศที่ 3 และจะคำนึงถึงสิทธิประโชน์และพันธกรณีที่ควรแบกรับ ส่วนอังกฤษจะเข้าตลาดสหภาพยุโรป จะต้องยอมรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความเสรี 4 ประการ ได้แก่ การไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า เงินทุน บุคคลและการบริการ ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญที่สุดของตลาดสหภาพยุโรป
ผลการลงประชามติของอังกฤษก็ทำให้ทั่วโลกพากันกังวลต่ออนาคตของสหภาพยุโรป ภายในสหภาพยุโรปก็มีเสียงเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูป นายทัสค์กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้ตอบรับความไม่พอใจของประชาชนประเทศสหภาพยุโรปว่า จะพยายามสร้างความหวังใหม่ให้กับประชาชน นายฌอง-คล็ดด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกล่าวว่า สหภาพยุโรปต้องปฏิรูป แต่ไม่ใช่เปลี่ยนมาตราการที่ดำเนินการไปแล้ว สหภาพยุโรปจะไม่เปลี่ยนกฎเกณฑ์
วันเดียวกัน นางนิโคลา สเตอร์เจน รัฐมนตรีคนที่หนึ่งของรัฐบาลสกอตแลนด์เยือนสำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป และพบกับประธานสภายุโรปกับประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เพื่อหารือเรื่องฐานะและสิทธิประโยชน์ของสกอตแลนด์หลังจากอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป นางสเตอร์เจนกล่าวว่า สกอตแลนด์ได้รับความเห็นใจจากประเทศสหภาพยุโรป แต่การที่สกอตแลนด์อยากจะอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปนั้นคงไม่ง่าย ก่อนหน้านี้นางสเตอร์เจนเผยว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สกอตแลนด์อาจจัดการลงประชามติครั้งที่ 2