วันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา งานสัมมนาคลังสมองระดับสูงว่าด้วยปัญหาทะเลจีนใต้ ความร่วมมือและการพัฒนาส่วนภูมิภาคเปิดฉากขึ้นที่สิงคโปร์ มีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการราว 30 คนจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ จีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา และอินเดียร่วมกันอภิปรายใน 3 ประเด็นหลักคือ กลไกการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ หนทางแก้ไขปัญหา และความร่วมมือกับการพัฒนาในทะเลจีนใต้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่เข้าร่วมงานสัมมนาเห็นว่า ศาลอนุญาโตตุลาการที่ตั้งขึ้นเพื่อตัดสินคดีทะเลจีนใต้ที่ยื่นฟ้องโดยฟิลิปปินส์ลำพังฝ่ายเดียวได้ฝ่าฝืนหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ แสดงจุดยืนตั้งแต่แรก สร้างกฎเกณฑ์ด้วยตนเอง และมองข้ามข้อเท็จจริงพื้นฐาน จนในที่สุด ได้ออกคำตัดสินที่ไร้สาระและจะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายใดๆ ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทะเลจีนใต้ควรกลับสู่หนทางการแก้ไขข้อพิพาทด้วยการหารือ ร่วมกันผลักดันความร่วมมือและการพัฒนาส่วนภูมิภาค
นายเจ้า ฉี่เจิ้ง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวสารคณะรัฐมนตรีจีน คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีนกล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนา สนับสนุนในจุดยืนของรัฐบาลจีนที่ไม่รับรองและไม่ยืนยันผลการตัดสินทะเลจีนใต้ เขาระบุอีกว่า ศาลอนุญาโตตุลาการที่ตั้งขึ้นเพื่อพิพากษาคดีทะเลจีนใต้ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับสหประชาชาติและศาลโลก ส่วนเนื้อความในการพิจารณาตัดสินก็มีแต่ความเหลวไหล ผลการตัดสินครั้งนี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อยู่เบื้องหลักอีกด้วย
นายเจิ้ง หย่งเหนียน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนาว่า ตนมองว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาทางกฎหมายทั่วไป หากเป็นปัญหาทางการเมือง สำหรับเรื่องที่คำตัดสินระบุว่า เกาะไท่ผิงเป็นแนวหินโสโครกนั้น นายเจิ้ง หย่งเหนียนระบุว่า หากเกาะไท่ผิงไม่ใช่เกาะ พื้นที่ส่วนใหญ่ตามแผนที่โลกคงต้องจัดทำกันใหม่ เขายังระบุว่า ที่ปัญหานี้ต้องมามีความสลับซับซ้อนมากขึ้นก็เนื่องมากจากสาเหตุสามประการ ได้แก่ บทบาทของจีนที่มากขึ้น บทบาทของสหรัฐฯ ที่ถดถอยลง และญี่ปุ่นที่ต้องการจะขยายอิทธิพล ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อการที่จีนมีบทบาทเพิ่มขึ้น และยิ่งไม่ได้แสดงบทบาทเป็นกลางในปัญหาทะเลจีนใต้ด้วย
ส่วนนายประสิทธิ์ เอกบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นว่า ผลการตัดสินไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ไม่ต้องให้ความสนใจ วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาคือการเจรจา