"ตอนเรียนที่จีน ผมมักจะซื้อของออนไลน์บ่อยๆ แต่เมื่อกลับถึงเมืองไทย ก็ไม่ค่อยได้ซื้อแล้ว" หนุ่มไทยคนหนึ่งที่เคยศึกษาอยู่ที่กรุงปักกิ่งกล่าว เขาบอกว่า "ขณะนี้ในเมืองไทยมีบริษัทส่งพัสดุด่วนดีๆ ไม่กี่เจ้า สินค้าที่ซื้อออนไลน์จะส่งช้า คุณภาพก็ไม่สามารถประกันได้ ทั้งขั้นตอนการคืนและเปลี่ยนสินค้าจะยุ่งยาก สภาพเช่นนี้จะเกิดกับตลาดออนไลน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั่วไป"
ขณะนี้ ตลาดอี-คอมเมิร์สเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นแบบกระจัดกระจาย ยังไม่มีแหล่งซื้อของออนไลน์ที่สามารถดึงผู้ใช้จ่ายทางออนไลน์ได้ถึงร้อยละ 20 เช่นที่สิงคโปร์ แหล่งซื้อของออนไลน์ 12 รายร่วมแบ่งตลาดร้อยละ 90 ทว่ายังไม่มีสักรายที่เรียกตัวเองได้ว่าเป็นเบอร์หนึ่ง
ทั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการจีนด้วย เวลานี้ กลุ่มอาลีบาบา (Alibaba) ประกาศดำเนินความร่วมมือกับกลุ่มซีพีของไทยในโครงการขยายกิจการอาลีเพย์ (Alipay) ซึ่งเป็นระบบบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากที่เมื่อเดือนเมษายนนี้ กลุ่มอาลีบาบาทุ่มเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซื้อลาซาดา (Lazada) อี-คอมเมิร์สรายใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เวลานี้ อาลีเพย์ได้เข้าสู่ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียแล้ว ส่วนบริษัทเทนเซ็นต์ (Tencent) ยักษ์ใหญ่อินเตอร์เน็ตของจีนอีกรายหนึ่งก็กำลังวางแผนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน โดยเมื่อเดือนตุลาคมนี้ ธนาคารกสิกรไทยระบุว่า กำลังร่วมมือกับบริษัทเทนเซ็นต์ในโครงการชำระเงินด้วยระบบวีแชต(wechat) สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเที่ยวในไทย ซึ่งมีจุดบริการกว่า 200,000 จุด ส่วนบริการชำระเงินในต่างแดนของบริษัทไป่ตู้ (http://qianbao.baidu.com) ก็เปิดที่เมืองไทยแล้วเช่นกัน
(TOON/LING)