การประชุมผู้นำความร่วมมือลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงครั้งแรกจัดขึ้นที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน ประเทศจีนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของความร่วมมือลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง การประชุมความร่วมมือลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศครั้งนี้ยังคงใช้หัวข้อ "ดื่มน้ำลำน้ำเดียวกัน เชื่อมสัมพันธไมตรีเพื่อสร้างประชาคมร่วมทุกข์ร่วมสุข " นายปรัก สุคน (Mr. Prak Sokhonn) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาชื่นชมกลไกความร่วมมือนี้กับสื่อมวลชนหลังการประชุมว่า เมื่อเทียบกับความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงอื่นๆ ความร่วมมือนี้มีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะว่าเพิ่ง ดำเนินการมาไม่นาน แต่ก็ได้ประสบผลคืบหน้ามากแล้ว กลไกความร่วมมือลุ่มแม่น้ำล้านช้าง –แม่น้ำโขงมี 3 ด้านด้วยกัน คือ การเมืองและความมั่นคง การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสังคมมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับ 3 หลักใหญ่ของประชาคมอาเซียน
เขายังกล่าวว่า รัฐมนตรีต่างประเทศที่ร่วมประชุมครั้งนี้กำหนดความร่วมมือ 5 ด้านที่ต้องเร่งดำเนินการก่อน ได้แก่ การเชื่อมต่อกันในด้านต่างๆ ความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิต ความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามแดน ทรัพยากรน้ำ และการลดความยากจนของเกษตรกร โดยได้เริ่มดำเนินโครงการ 45 โครงการ เพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวประสบผลคืบหน้าที่แท้จริง
ด้านนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า ด้วยการใช้ความพยายามร่วมกันของทุกฝ่าย ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงได้ประสบผลคืบหน้าสำคัญอย่างมาก ปัจจุบัน ได้จัดตั้งกลไกการดำเนินงานระดับต่างๆ เช่น การประชุมระดับผู้นำ การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง ส่วนโครงการความร่วมมือ 45 โครงการ ซึ่งนับเป็นผลความร่วมมือในเบื้องต้นนั้น มีประมาณครึ่งหนึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ หรือมีความคืบหน้ามากแล้ว ส่วนการจัดตั้งทีมงานเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือ 5 ด้านที่ต้องเน้นดำเนินการก่อนนั้นก็เป็นไปอย่างราบรื่น กลไกการระดมทุนเพื่อความร่วมมือลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงเริ่มเดินเครื่องในทุกด้าน โครงการสำคัญๆ บางส่วนเริ่มดำเนินการแล้ว ทั้งนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของความร่วมมือลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง
นายหวัง อี้ยังกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงสามารถประสบผลคืบหน้ามากภายในระยะเวลาอันสั้น เป็นเพราะว่ากลไกความร่วมมือนี้สอดคล้องกับความปรารถนาของ 6 ประเทศที่จะกระชับความร่วมมือ สอดคล้องกับกระบวนการความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นกระแสปัจจุบัน
(IN/cai)