สำนักข่าวซินหวารายงานว่า เช้ามืดวันที่ 1 มกราคม ไนต์คลับแห่งหนึ่งของอิสตันบูล(ISTANBUL)เมืองใหญ่ที่สุดของตุรกีเกิดเหตุก่อการร้าย เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 39 คน ซึ่งมี 20 คนเป็นชาวต่างชาติ นายเรเซพ ทายยิบ เออร์โดกัน(Recep Tayyip Erdoğan)ประธานาธิบดีตุรกีประกาศแถลงการณ์โดยระบุว่าจะโจมตีลัทธิก่อการร้ายต่อไปจนกว่าจะขจัดให้หมดสิ้น ในวันเดียวกัน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศแถลงการณ์ ประณามการก่อการร้ายที่ไนต์คลับอิสตันบูลด้วยคำพูดรุนแรง
สื่อมวลชนตุรกีรายงานว่า ผู้เสียชีวิต 20 คนที่เป็นชาวต่างชาติได้รับการยืนยันแล้วว่ามาจาก 9 ประเทศ เป็นชาวซาอุดิอาระเบีย 7 คน ชาวอิรัก 4 คน ชาวอินเดียและชาวตูนิเซียอย่างละ 2 คน และชาวซีเรีย แคนาดา อิสราเอล เลบานอนและคูเวตอย่างละ 1 คน สื่อมวลชนตุรกีเห็นว่า การที่มีชาวต่างชาติได้รับบาดเจ็บล้มตาย อาจจะส่งผลกระทบต่อกิจการท่องเที่ยวที่ซบเซาอยู่แล้วให้ย่ำแย่ลงอีก
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศแถลงการณ์เมื่อวันที่ 1 มกราคมว่า สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้ประสบเคราะห์ร้ายและรัฐบาลตุรกี หวังว่าผู้ได้รับบาดเจ็บจะได้รับการรักษาหายเป็นปกติโดยเร็ว สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ลัทธิก่อการร้ายเป็นการคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ พร้อมเน้นว่า ควรจับผู้วางแผน ผู้ก่อเหตุและผู้ให้เงินสนับสนุนพฤติกรรมก่อการร้ายเหล่านี้ให้ได้โดยเร็ว และเร่งรัดให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกับรัฐบาลตุรกีในด้านนี้
เช้ามืดวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา มือปืนผู้หนึ่งบุกเข้าไนต์คลับที่ชื่อ "เรนาไนต์คลับ(Reina nightclub)" ได้ยิงกราดใส่กลุ่มคนหลายร้อยที่กำลังเฉลิมฉลองปีใหม่ แล้วหลบหนีออกไป ปัจจุบันยังไม่ทราบสถานะของมือปืน ตำรวจดำเนินการตรวจสอบขนาดใหญ่ นายซูไลมัน โซยลู( Suleyman Soylu)รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยตุรกีระบุว่า การก่อการร้ายครั้งนี้ทำให้ 39 คนเสียชีวิต 69 คนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในจำนวนนี้มี 4 คนบาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้ตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2015 เป็นต้นมา ตุรกีเกิดเหตุก่อการร้ายจำนวนมาก เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน ทางการตุรกีระบุว่าการโจมตีเหล่านี้ก่อขึ้นโดยกลุ่มไอเอสและพรรคแรงงานเคอร์ดิสถานซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล
(Yim/zheng)