视频/泰国/SME
|
กรุงเทพฯ - 10 มีนาคม 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เปิดงาน 'SME REVOLUTION : เส้นทางสายโอกาสเอสเอ็มอี 4.0' ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าภาพดึงเหล่าพันธมิตร อาทิ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) และอีกมาก ร่วมผลักดันช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทย เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่เศรษฐกิจยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่กำลังเกิดขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลตามกรอบแนวทาง "ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0"
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ กล่าวถึงการจัดงานว่า "การจัดงาน SME REVOLUTION : เส้นทางสายโอกาสเอสเอ็มอี 4.0 ในวันนี้ นับเป็นการแสดงพลังประชารัฐเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือ เรื่อง การส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ นั่นก็คือ "Thailand 4.0" ผมดีใจที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันทำงานโดยแปลงนโยบายมาสู่การขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน มีกลไก มาตรการต่างๆ ที่จับต้องได้ และสามารถช่วยเหลือ SME ได้อย่างแท้จริง มีการนำผลงานเด่น ผลงานเชิงนวัตกรรมมาจัดแสดงเพื่อเป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าชมงานเห็นความสำคัญ เป็นการจุดประกายพลัง สร้างสรรค์ให้กับกลุ่มธุรกิจ SMEs เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง เป็นการสร้างโอกาสให้กับ SME ทั้งหลายที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
รัฐบาลชุดปัจจุบันพยายามสร้างความสมดุลโดยมุ่งพัฒนาประเทศในทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร ภาคการค้าบริการ และภาคอุตสาหกรรม หลังจากประเทศประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ขนาดของช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท เกิดปัญหา รวยกระจุก จนกระจาย ทำให้ชนบทของไทยอ่อนแอ ประเทศสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ขาดสมดุลทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่เล็ก ทรัพยากรมีน้อยและจำกัด รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ทั้งการส่งเสริมพัฒนาภาคเกษตรซึ่งมีเกษตรกรอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลต่างๆ และที่สำคัญคือต้องดูแลกลุ่ม SMEs กว่า 3 ล้านรายซึ่งเป็นวิสาหกิจส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องดำรงอยู่ได้ เติบโต และแข็งแกร่งไปด้วยกัน เพื่อจะนำพาประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap ให้เกิดการกระจายรายได้และผลประโยชน์อย่างทั่วถึง
นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy)
ในปีนี้จึงถือเป็นปีแรกที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับงบประมาณกลุ่มจังหวัดและให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาระดับจังหวัดมากขึ้น โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดันงบประมาณกลางปี 2560 ในวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่จัดสรรสำหรับโครงการแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดจำนวน 6.3 หมื่นล้านบาท โดยโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัด เป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในประเด็นยุทธศาสตร์จังหวัดและยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดที่จะนำมาใช้สนับสนุนเพิ่มเติมตามลำดับความสำคัญ นับเป็นการพัฒนาจากล่างขึ้นบนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ยังผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์ชุมชนซึ่งแฝงไว้ด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น กับการท่องเที่ยวตามโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village) หรือ CIV โดยผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆ ในหมู่บ้านร่วมกันจัดทำแผนธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ทำการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยใช้ความสร้างสรรค์และเสน่ห์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการของชุมชนตามแนวประชารัฐด้วย
รัฐบาลคาดหวังว่างบประมาณดังกล่าวจะถูกใช้ไปเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และศูนย์จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือ มีการจัดอบรม สัมมนา ฝึกอบรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นการยกระดับผลิตภาพ คุณภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สร้างการพัฒนา การจ้างงาน ประชาชนมีศักยภาพในการใช้จ่ายทำให้เศรษฐกิจหมุนอีกครั้ง
กองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ
งบประมาณสำคัญที่ถูกจัดสรรเพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ จำนวน 20,000 ล้านบาทที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพ ที่จะเปิดตัวในงานนี้ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนช่วยเหลือ SMEs ให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปสู่ SME 4.0 เป็นการจัดสรรงบประมาณให้เพิ่มเติมจากงบประมาณในการส่งเสริมพัฒนา SMEs ที่มีอยู่ปกติแล้ว โดยเกณฑ์การสนับสนุนสินเชื่อจะต้องมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน และเปิดโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำที่มากกว่าปกติ เป็นจุดกระตุ้นให้สถาบันการเงินกลับมาช่วยสนับสนุนเงินทุนแก่ SMEs ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
ซึ่งในการนี้ ยังมีอีก 2 กองทุนสำคัญคือ การเปิดตัวกองทุนฟื้นฟู SME 2,000 ล้านบาท ของ สสว. มุ่งเน้นช่วยกลุ่ม SME ที่ประสบปัญหามีหนี้ค้างชำระ ชำระหนี้ไม่สม่ำเสมอประสบภาวะสภาพคล่องตึงตัว มีหนี้ที่เป็น NPL บ้าง แต่ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายนี้จะต้องผ่านการวินิจฉัยเชิงลึกเพื่อปรับปรุงแผนการดำเนินธุรกิจให้เรียบร้อย ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนในรูปแบบของเงินอุดหนุนที่ต้องชำระคืน รวมถึงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (SME Transformation Loan) วงเงิน 15,000 ล้านบาทของ SME Bank ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านการเงิน กองทุนนี้จะถูกจัดสรรให้กับจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในสัดส่วนตามศักยภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด"
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿
ภาพ: พันธสัญญา โชติธนพุทธิพงษ์