สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานว่า กระทรวงทรัพยากรที่ดินของจีนแถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จีนประสบความสำเร็จในการทดลองขุดเจาะน้ำแข็งที่เผาไหม้ให้พลังงานเชื้อเพลิงได้ที่ทะเลจีนใต้ ทำให้จีนเป็นประเทศที่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้จากการทดลองขุดเจาะ "น้ำแข็งเชื้อเพลิง" จากก้นทะเลลึกได้ต่อเนื่องนานที่สุดของโลก
น้ำแข็งเชื้อเพลิง(Natural Gas Hydrate) เป็นเชื้อเพลิงแข็งที่มีลักษณะคล้ายก้อนน้ำแข็ง ที่เกิดจากแปรสภาพของก๊าซธรรมชาติและน้ำภายใต้เงื่อนไขที่มีความดันสูงและอุณหภูมิต่ำมาก เป็นเชื้อเพลิงรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง เมื่อพูดถึงก้อนน้ำแข็งที่เผาไหม้ได้ บางคนคงนึกถึงก้อนพลังงานจากภาพยนตร์เรื่อง "ทรานฟอร์เมอร์ส(TRANSFORMERS)" ที่แม้มีปริมาณเพียงน้อยนิด แต่สามารถให้พลังงานได้มากมายเหลือเชื่อ โดยก้อนน้ำแข็งเชื้อเพลิงขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร สามารถคายก๊าซธรรมชาติออกมาได้กว่า 160 ลูกบาศก์เมตร
ยกตัวอย่าง สำหรับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง หากเติมก๊าซ 100 ลิตร รถสามารถวิ่งได้ 300 กิโลเมตร แต่ก้อนน้ำแข็งเชื้อเพลิงเพียงแค่ 0.1 ลูกบาศก์เมตร(เทียบเท่ากับ 100 ลิตร) สามารถให้พลังงานขับเคลื่อนรถคันเดียวกันนี้แล่นได้ไกลถึง 50,000 กิโลเมตร
ปี 2013 ญี่ปุ่นเคยทดลองขุดเจาะน้ำแข็งเชื้อเพลิงจากก้นทะเลเป็นเวลา 6 วัน แต่ต้องหยุดทำเพราะมีโคลนทรายเข้าไปอุดตันท่อส่ง จึงได้ก๊าซธรรมชาติไปเพียง 120,000 ลูกบาศก์เมตร กล่าวได้ว่า การขุดเจาะน้ำแข็งเชื้อเพลิงเป็นโจทย์ที่ยากระดับโลก
แต่ถึงวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา การทดลองขุดเจาะน้ำแข็งเชื้อเพลิงใต้ทะเลของจีนนั้น ได้ดำเนินการต่อเนื่องเกิน 1 สัปดาห์แล้ว ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติต่อวันโดยเฉลี่ยมีกว่า 10,000 ลูกบาศก์เมตร และมียอดการผลิตเกิน 120,000 ลูกบาศก์เมตรแล้ว
ทั้งนี้ ทั่วโลกมีปริมาณ "น้ำแข็งเชื้อเพลิง" ทั้งหมดราว 2,100 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร โดยมี 97% อยู่ใต้ก้นทะเลลึก ปริมาณนี้ราว 2 เท่าของถ่านหิน น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่มนุษยชาติพบในปัจจุบัน เท่ากับว่าปริมาณน้ำแข็งเชื้อเพลิงทั่วโลกนี้มีมากเพียงพอให้มนุษยชาติใช้ได้นานถึง 1,000 ปี และเป็นที่น่ายินดียิ่งว่า การเผาน้ำแข็งเชื้อเพลิงที่ให้ก๊าซธรรมชาตินี้ จะไม่เหลือกากหรือเศษที่ต้องกำจัดด้วย นักวิทยาศาสตร์ด้านพลังงานจึงยกย่องให้ "น้ำแข็งเชื้อเพลิง" เป็นพลังงานสะอาดแห่งอนาคต
YF