เลือกภาษาจีนเป็นวิชาเลือกตอนเรียนปริญญาตรีที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอมาจีนก็พอใช้สื่อสารเบื้องต้นได้ แต่ต้องมาเรียนปูพื้นฐานภาษาจีนอยู่ 1 ปีแล้วจึงเรียนต่อปริญญาโทที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยซานตง เป็นต่างชาติคนเดียวที่เลือกเรียนคณะนี้ ต้องเรียนกับคนจีนเจ้าของภาษายากมาก เพราะเรายังไม่สามารถฟังเล็กเชอร์เป็นภาษาจีนและก็เขียนงานเป็นภาษาจีนในแบบของคนจีน เราจะเขียนและฟังได้ในระดับหนึ่ง แต่เวลาทำงานก็โชคดีตรงเพื่อนคนจีนคอยช่วยปรับภาษาให้อีกรอบ เวลาเรียนก็ต้องตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ เพราะอาจารย์คนจีนก็จะพูดจีนแบบให้คนจีนฟัง ไม่คิดว่ามีคนต่างชาตินั่งเรียนอยู่ด้วย เพราะในคณะที่เรียนมีเราเป็นต่างชาติอยู่เพียงคนเดียว เพราะฉะนั้นค่อนข้างยากมากต้องตั้งใจเป็นพิเศษเวลาทำงานส่งอาจารย์หรือทำงานกลุ่มกับเพื่อน ๆ เรียนปีแรกเครียดมาก พอปีสองเบาลงบ้างเพราะวิชาที่เรียนน้อยลงส่วนมากเป็นงานเขียนที่จะต้องไปส่งอาจารย์
รายการโทรทัศน์ในจีนที่ติดตาม
อาจารย์แนะนำให้ดูรายการเดอะว้อยซ์ของจีนและรายการปาป้าชี่หนาร์ซึ่งเป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ เขาก็จะให้เราดูว่าเมื่อจีนซื้อลิขสิทธิ์รายการต่างประเทศมาทำแล้วมาปรับในแบบของจีนให้เข้ากับวัฒนธรรมและสังคมจีนเพื่อให้เข้าถึงคนดูอย่างไร พอดูแล้วรู้สึกว่าโครงสร้างของรายการยังอยู่เหมือนต้นฉบับแต่ในรายการเน้นความเป็นจีนอย่างการพูดคุยกัน วัฒนธรรมในการสอนลูกทีมที่สอดแทรกเข้าไป ส่วนใหญ่เพลงที่ร้องเป็นเพลงจีนสลับกับเพลงสากลบ้างแต่ไม่มากแถมเพลงที่นำมาร้องส่วนใหญ่เป็นเพลงจีนที่ได้รับความนิยมบางทีกรรมการกับคนดูที่อยู่ในห้องส่ง ก็จะร้องไปด้วย มีความสนุกสนานแบบจีน ส่วนอีกรายการเป็นรายการที่พ่อลูกไปทำภารกิจด้วยกันตามที่ต่าง ๆ จะได้เห็นบทบาทของผู้ชายจีนในการเป็นผู้นำครอบครัว และการมีส่วนร่วมในด้านต่าง ๆ อย่างการดูแลลูก การทำอาหารการกิน การดูแลบ้าน พอดูรายการแล้วรู้เลยว่าคุณพ่อบ้านจีนนี่มีบาทบาทต่อครอบครัวมาก เขาสอดแทรกวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อการตัดสินใจ การท่องเที่ยว เข้าไปได้อย่างแยบคายโดยสปอนเซอร์ส่วนใหญ่ก็เป็นธุรกิจของจีน
สื่อสังคมออนไลน์ในจีน
สื่อสังคมออนไลน์ของจีนก็แรงมาก เป็นที่ทราบกันดีว่าที่จีนไม่สามารถเข้าเฟซบุ๊ค ยูทูป ทวิตเตอร์ได้ แต่เท่าที่ถามเพื่อนในชั้นเรียนทุกคนไม่ได้รู้สึกว่าโดนปิดกั้น เพราะเขาพัฒนาสื่อสังคมออนไลน์ขึ้นมาเองและใช้กันมานานแล้ว เขามีความสุขกับการใช้วีแชต คิวคิว เวยโป๋ในการติดต่อสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ โดยส่วนใหญ่ใช้วีแชตเป็นหลักและไม่ได้ใช้แค่เพียงคุยกัน ส่งรูป ส่งข้อความถึงกันเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้รับ-ส่งเงินถึงกัน จ่ายค่าสินค้าบริการ สามารถแชร์เรื่องราวต่าง ๆ เก็บไว้ในหน้าของเราเองหรือแชร์ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานจากสื่อต่าง ๆ ผ่านวีแชตได้ด้วยคือขณะนี้วีแชตทำได้แทบทุกอย่างจึงเป็นที่นิยมไม่เฉพาะในหมู่คนจีนเท่านั้น ต่างชาติก็นิยมใช้โดยเฉพาะต่างชาติที่จะติดต่อกับคนจีนถือเป็นช่องทางที่สะดวกมาก
ตอนนี้คนจีนไม่พกเงินสด
ตอนนี้คนจีนไม่พกเงินสด เราเองก็ไม่พกเงินสดมานานแล้ว ใช้จ่ายผ่านวีแชตและจือฟู่เป่าหรืออาลีเพย์ ไปตามที่ต่าง ๆ แม้กระทั่งร้านถ่ายเอกสารหรือร้านขายผลไม้มากน้อยแค่ไหนก็จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์ผ่านวิธีการออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งทำให้ชีวิตสะดวกสบายมาก
แวดวงการศึกษาจีนใช้สื่อใหม่มากน้อยแค่ไหน
จะเข้ามาในส่วนของการติดต่อสื่อสารมากกว่า อย่างกรณีคณะต้องการแจ้งข้อมูลกับนักศึกษาเราก็จะมีวีแชตกรุ๊ปเป็นกลุ่ม ทั้งคณจารย์และเจ้าหน้าที่คณะก็จะสื่อสารกับนักศึกษา สื่อสารถึงกันด้วยวิธีนี้ นักศึกษาก็รู้ข้อมูลข่าวสารได้เลยโดยไม่ต้องไปดูประกาศที่คณะ ทุกคนก็จะติดตามข่าวสารของคณะรวมทั้งวันสอบ วันส่งงาน วันเข้าเรียน ตารางสอน อื่น ๆ ผ่านทางวีแชตกรุ๊ป แต่ในการเรียนการสอนโดยตรงยังไม่ค่อยมีที่พอมีบ้างคืออาจารย์จะส่งอีเมลบทความหรืออะไรมาให้อ่านก่อนหรืออาจจะมีการดูหนังเราก็วิเคราะห์หนังไปด้วยกันอย่างนี้
จุดเด่นของนักศึกษาจีน
นักศึกษาจีนจะตรงต่อเวลามากและตั้งใจเรียนมาก ทุกวิชาจะมาก่อนเวลาตลอด ถ้าเราไปตรงเวลาเราจะไม่มีที่นั่งเพราะว่าเขาจะมานั่งรอเรียนกัน จะมีน้อยมากที่มาสายหรือเข้ามาทีหลัง มันทำให้เราต้องตื่นตัวและต้องรีบไปก่อนเวลา ไม่ได้ไปตรงเวลานะคะ ต้องไปก่อนเวลาเพื่อมีที่นั่งในจุดที่เรานั่งแล้วสามารถมองเห็นกระดานชัดมองเห็นสไลด์ชัดเพราะทุกคนก็จะพยายามไปจับจองที่นั่งที่ตนเองสามารถจดหรือฟังการบรรยายได้ดีที่สุด
ความกระตือรือร้นของนักศึกษาจีน
ต้องถือว่าเป็นชาติที่ขยันมาก เพื่อนในห้องทุกคนจะไม่มีใครมาเรียนโดยที่ไม่หาข้อมูลมาก่อนต้องเตรียมไปก่อนว่าวิชานี้เรียนเกี่ยวข้องกับอะไร แล้วอาจารย์ให้อ่านหนังสือเกี่ยวกับอะไรบ้างเขาก็จะไปหาไปเตรียมมาอ่าน แม้เวลาเลิกเรียน เวลาพักห้องเล็กเชอร์ทุกห้องจะกลายเป็นห้องอ่านหนังสือ เพราะห้องสมุดที่จีนไม่มีที่ให้อ่านมากเท่าไหร่ประชากรเขามาก เพราะฉะนั้นห้องเรียนในแต่ละคณะแต่ละตึกถ้าไม่มีวิชาเรียนเขาก็จะเปิดให้เป็นห้องอ่านหนังสือ ทุกคนที่ไปอ่านในห้องสมุดไม่ได้หรืออ่านในหอพักไม่ได้ เพราะในหอพักเด็กจีนจะพักกันห้องละ 6 คน จะมี่มีเวลาเป็นส่วนตัว หรืออาจไม่เงียบเท่าไหร่ ดังนั้นเวลาที่ไม่มีวิชาเรียนห้องเล็กเชอร์ก็จะเปิดให้นักศึกษาเข้าไปอ่านหนังสือได้
จะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับรายการสานสัมพันธ์ไทย-จีน
ใช่ค่ะจะทำวิทยานิพนธ์ โดยศึกษาว่ารายการสานสัมพันธ์ไทย-จีนที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุจุฬาและเครือข่ายสถานีวิทยุสถาบันการศึกษาส่วนหนึ่งมีส่วนช่วยในการทำให้คนไทยรู้จักประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นอย่างไรหรือไม่ ดังนั้นขอความกรุณาท่านผู้ฟังที่ได้แบบสอบถามตอบแบบสอบถามให้ด้วยค่ะ
ผลการศึกษาเป็นเช่นไรจะติดตามนำมาเสนอให้ท่านทราบต่อไปค่ะ
----------------------------------------------------------------------------------------------------