เมื่อค.ศ.1917 ชาวอังกฤษผลิตเครื่องบินไร้คนขับลำแรกของโลก เป็นการเปิดฉากการพัฒนาเครื่องบินไร้คนขับของทั่วโลก จนถึงปัจจุบัน การวิจัยและผลิตเครื่องบินไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นแนวหน้าของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ด้านการบินของโลก บรรดาประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีพากันเข้าร่วมการแข่งขันวิจัยและผลิตเครื่องบินไร้คนขับที่ดุเดือด ขณะที่ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้วิจัยและผลิตเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์แต่แรกเริ่ม ได้กำหนดโครงการเครื่องบินไร้คนขับเข้าแผนพัฒนาระดับชาติตั้งแต่ปี 1980 ต่อจากนั้นได้สร้างเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทันสมัยหลายรุ่น
อังกฤษ ในฐานะประเทศนำร่องก็ได้สร้างเครื่องบินไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีชื่อว่า "เซเฟอร์(Zephyr)" ซึ่งประสบความสำเร็จในการเหินฟ้าต่อเนื่องกัน 54 ชั่วโมง ด้วยความสูงเกิน 15,000 เมตร ต่อจากนั้น เครื่องบินแสงอาทิตย์ "โซลาร์ อิมพัลส์ 2 (Solar Impulse 2)" ของสวิตเซอร์แลนด์ได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยนักบินชาวสวิซ 2 คนขับเครื่องบินที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงและไม่ปล่อยมลพิษลำนี้ เสร็จสิ้นการบินรอบโลกระหว่างปี 2015 – 2016 โดยสร้างสถิติการบินต่อเนื่องกันได้นานถึง 118 ชั่วโมง ถือเป็นผลสำเร็จสำคัญที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์การผลิตเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์
สาเหตุที่ประเทศต่างๆ ลงทุนทั้งกำลังทรัพย์และกำลังคนแข่งกันวิจัยเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ คือเครื่องบินประเภทนี้จะใช้ประโยชน์ในด้านการวิจัยและการปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอย่างกว้างขวางในอนาคต และจะขับเคลื่อนการพัฒนานิวไฮเทคอีกหลายอย่าง นายหลี่ กว่างเจียกล่าวว่า โครงการยานบินไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ครอบคลุมถึงเทคโนโลยีอากาศพลศาสตร์ วัสดุศาสตร์ แบตเตอรี่เก็บพลังงาน ฯลฯ เทคโนโลยีสำคัญของการพัฒนายานบินไร้คนขับพลังงานแสงแดดยังคงเป็นโจทย์ที่แก้ไขยากของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก
ถึงแม้จีนเริ่มต้นงานวิจัยในด้านนี้ค่อนข้างช้า แต่ได้รับความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ ยานบินขอบอวกาศไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ "รุ้ง" ของจีนบินขึ้นถึงขอบอวกาศได้แล้วนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนายานบินไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ของตนเอง ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของทั่วโลก