ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีนจัดสัมมนาหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับ EEC
  2017-06-30 21:21:48  cri

กรุงเทพฯ –ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีนได้จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทยกับโครงการ The Belt & Road ของจีน" ขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 ณ ห้องประชุมโรงละครชั้น 2 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯ โดยภายในงานมีนายจาง โป รองผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนกล่าวต้อนรับ และได้รับเกียรติจากนายเฉิน เจียง อุปทูตฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, พลตำรวจโทพิทักษ์ จารุสมบัติ รองประธานสมาคมวัฒนธรรมเศรษฐกิจไทยจีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ และนายธีรวัชร ภรสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกล่าวเปิดงาน

วัตถุประสงค์ของงานในครั้งนี้คือเพื่อเผยแพร่และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน โดยนิยมใช้ชื่อย่อว่า OBOR (One Belt One Road Policy) หรือ BRI (Belt and Road Initiative BRI) และโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย (EEC) รวมถึงการพิจารณาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างโครงการดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการ หน่วยงานภาคเอกชนทั้งของไทยและจีน สื่อมวลชนตลอดจนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานเกือบ 200 คน

รูปแบบการสัมมนาแบ่งเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยในช่วงเช้าได้เชิญศาสตราจารย์หวาง อวี้จู่ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือ CASS เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเรื่อง "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชียอาคเนย์" และต่อเนื่องด้วย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ "ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทยกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนทั้งของไทยและจีน

การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งการปรับรูปแบบแผนงานจากการค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ และการปรับปรุงโครงสร้างการดำเนินการ การมีฐานข้อมูลที่ถูกต้องซึ่งได้มาจากการศึกษาวิจัยของหน่วยงานคุณภาพรวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอันจำเป็นต่อการสื่อสารและการสร้างทัศนคติ ระหว่างรัฐกับรัฐและรัฐกับประชาชนจะต้องมีกลไกและช่องทางสำหรับการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งการปรับทัศนคติ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทยกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนควรใช้พื้นฐานความสัมพันธ์จากเงื่อนไขที่ไทยและจีนไม่มีข้อขัดแย้งที่รุนแรงใดๆ และใช้ปัจจัยเสริมจากความใกล้ชิดที่เหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน นอกจากนนี้ยังต้องมีการทำการบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเจรจามีความก้าวหน้าภายใต้กรอบแนวคิดในการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างต่อไป

การประชุมครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่จัดโดยศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน หลังจากได้มีการจัดสัมมนาทางวิชาการมาแล้วหนึ่งครั้งในหัวข้อ "The Belt and Road" and "Thailand 4.0": Strategic Cooperation เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ภาพ: พันธสัญญา โชติธนพุทธิพงษ์

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040