ดร.พรธรรม กล่าวว่าการสร้างพระเมรุมาศในครั้งนี้ยึดตามธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คือ สร้างพระเมรุทรงบุษบก เพียงแต่ได้ทำการขยายแบบให้มีขนาดกว้างที่สุดและสูงที่สุด คือกว้างด้านละ 60 เมตร และสูง 50.49 เมตร และยังกำหนดแกนกลางใหม่ ให้พระเมรุมาศองค์นี้ตั้งอยู่จุดกึ่งกลางของเกาะรัตนโกสินทร์ โดยยึดแกนเหนือ-ใต้จากพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และแกนตะวันออก-ตกลากมาจากเขตพุทธาวาสในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร โดยยังคงความเชื่อเดิมเรื่อง "เขาพระสุเมรุ" อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเอาไว้ มีสระอโนดาตและโขดหินล้อมรอบ ตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ต่างๆ ที่เลือกใช้สระอโนดาตแทนป่าหิมพานต์เพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับน้ำจำนวนมาก ซึ่งยังประโยชน์สุขมาสู่ประชาชนตลอดรัชกาลของพระองค์
ดร.พรธรรม ธรรมวิมล และนายธีรชาติ วีรยุทธานนท์ กำลังให้คำอธิบาย
นอกจากนี้ทางเข้าด้านทิศเหนือถูกออกแบบตามพระราชกรณียกิจต่างๆ มีฝายน้ำล้นที่ออกแบบเป็นรูปเลข ๙ ไทย มีแก้มลิง นาข้าว กังหันชัยพัฒนา เป็นต้น
ด้านการก่อสร้างนั้น นายธีรชาติ ระบุว่า โครงสร้างหลักของพระเมรุมาศเป็นเหล็กที่ไม่เชื่อมติดกัน รื้อถอนได้ง่าย ส่วนงานไม้นั้นเป็นไม้ฉำฉา และมีไผ่ขัดแตะประกอบในการทำบังตา รวมถึงงานกระดาษหรือเปเปอร์มาร์เช่ที่เข้ามาเสริมการตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งหลังแล้วเสร็จพระราชพิธีจะมีการบริจาคสิ่งใดให้วัดตามประเพณีโบราณนั้นก็ขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ ขณะที่งานโครงสร้างหลักๆ จะมีการโยกย้ายไปสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นในพื้นที่ของกรมศิลปากร บริเวณรังสิตคลอง 5
ศิลปินอาสาสมัครกำลังลงสีหุ่นสัตว์หิมพานต์