สถานที่ที่ถูกกล่าวถึงเป็นอันดับแรกในคำขวัญของจังหวัดระนองคือ "คอคอดกระ" คอคอดกระหรือกิ่วกระ ปัจจุบันบางคนก็เรียกว่า "คลองไทย" เป็นส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทยและแหลมมลายู ตั้งอยู่เขตบ้านทับหลี ตำบลละมุ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง กับอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ระยะทางกว้างแค่เพียง 44 กิโลเมตรเท่านั้น
การขุดและพัฒนาบริเวณคอคอดกระถูกนำมาจุดกระแสอีกรอบ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและภาคีจัดงานประชุมนานาชาติในหัวข้อ "คลองไทย: เทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย" การศึกษาแบบบูรณาการของระบบแบบโลจิสติกส์ทางเลือกบนเส้นทางสายไหม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมสมองผู้ชำนาญการจากทั่วโลกในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการขุดคลองเพื่อการพาณิชย์ และหาข้อสรุปทางการศึกษาเกี่ยวกับการขุดคลองไทยทั้งในมุมมองด้านวิชาการและวิสัยทัศน์
งานเริ่มด้วยการกล่าวต้อนรับโดยพลเอกพงษ์เทพ เทพประทีป ประธานสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา (TCA) กิจกรรมภายในงานแบ่งเป็น 4 ช่วง เริ่มด้วยการแนะนำคลองขุดที่สำคัญของโลก อย่าง คลองปานามา คลองสุเอซ คลองคีล มีการพูดถึงการพัฒนาปรับปรุงและขยายคลองขุดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน รวมถึงการวางแผนการตลาดเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดผู้ใช้บริการรายใหม่
ดร.โนริโอะ ยามาโมโตะ ประธานกองทุนโกลบอล อินฟราสตรักเจอร์ (Global Infrastructure Fund Foundation) กล่าวไว้ว่า "การขุดคลองกระจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ได้"
ช่วงที่สอง เป็นการอภิปรายถึงหลักการขนส่งในระดับโลกซึ่งประเด็นร้อนที่กล่าวถึงจึงหนีไม่พ้นแนวคิด Belt & Road หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ช่วงนี้ได้นักวิชาการจากประเทศจีนมาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งระบุว่า ไม่ว่าจะมองจากในระดับโลกหรือระดับภูมิภาคแล้วโครงการขุดคลองไทยจะเป็นโครงการใหญ่ที่ช่วยให้ไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางทางด้านการเดินเรือทั้งในอาเซียนและระดับโลก
ศ.โจว ต้าเวย จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวว่า "เคยมีเพื่อนถามผมว่าเคล็ดลับอะไรที่ทำให้จีนกลายร่างจากประเทศยากจนเป็นประเทศที่มั่งคั่งและแข็งแกร่ง ถ้าจะให้ผมตอบจริงๆ ขอใช้สามคำดังนี้ ปฎิรูป-เปิดกว้าง-โลกาภิวัฒน์"
ช่วงที่สามเริ่มตีกรอบแคบมากขึ้น โดยลดขนาดมาพูดถึงอาเซียนและความเชื่อมโยงที่มีต่อ "คลองไทย" ช่วงนี้ได้ศาสตราจารย์รุสลาน ฮาซซัน นักวิชาการจากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์ของมาเลเซียเล่าถึงสถานการณ์โครงสร้างพื้นฐานในมาเลเซียทั้งในอดีต ปัจจุบัน และสิ่งที่วางแผนไว้ในอนาคต และได้นายโทนี เรสทอล เจ้าของฉายา Mr.Free Zone มาแบ่งปันความรู้ด้านการพัฒนา Free Economic Zone ซึ่งเขาให้ความเห็นว่าหากใช้ความรู้ด้าน Free Zone อย่างถูกต้องจะสามารถช่วยไทยให้มีรายได้และสร้างงานให้คนในประเทศได้จำนวนมาก
ช่วงสุดท้ายของวันเป็นหัวข้อเกี่ยวกับความมั่นคงและสิ่งแวดล้อม โดยมีการกล่าวถึงเรื่องความมั่นคงในระดับชาติกับการพัฒนาคลองไทย รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน
ดร.ฮารัลด์ วากเนอร์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนายดักลาส สมิธจากบริษัทดีเอส สมิธ เอนไวโรเม้นต์ กรุงลอนดอน กล่าวว่า "การส่งสินค้าผ่านคลองไทยจะช่วยให้ใช้เวลาน้อยลง ต้นทุนต่ำกว่า และปล่อยแก๊สเรือนกระจกน้อยกว่าการใช้ช่องแคบมะละกา แต่การขุดคลองไทยจะนำมาซึ่งผลกระทบอย่างมากทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจทำให้การเริ่มโครงการชักช้าหรือกระทั่งหยุดชะงักลงได้หากไม่มีการจัดการที่ถูกต้องและดีพอ"
การศึกษาเรื่องการขุดและพัฒนาคลองไทยยังคงต้องดำเนินต่อไป จนกว่าคนในสังคมส่วนใหญ่จะเห็นคล้องกับโครงการนี้ และแน่นอนว่าต้องมีการเตรียมการและวิจัยในเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างละเอียด อนาคตของคลองไทยจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น เราคงยังต้องจับตามองและให้ความสนใจกันต่อไป
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿
ภาพ: ณจักร วงษ์ยิ้ม