โอกาสรังนกไทย (อีกครั้ง) ในแดนมังกร
  2017-09-15 21:01:28  cri

ของกินหรืออาหารเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับมนุษย์ ชาวจีนจัดอาหารสุดยอดไว้ 4 อย่าง ได้แก่ หูฉลาม รังนก อุ้งตีนหมี และเป๋าฮื้อ "รังนก" ถูกย่องย่องว่าเป็นอาหารบำรุงสุขภาพชั้นดี บำรุงผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลีย ป่วยเรื้อรัง บำรุงปอด เสริมภูมิคุ้มกัน ฯลฯ แพทย์แผนจีนไม่ได้เอาส่วนประกอบทางโภชนาการแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาจำแนกสรรพคุณของรังนก คุณประโยชน์ด้านฤทธิ์ร้อนเย็น รสชาติ การเข้าสู่อวัยวะ ปรับสมดุลกลไก และสมดุลหยินหยางต่างหากคือตัวชี้ขาดคุณสมบัติของรังนกในเคล็ดลับตำราจีน

สำหรับในไทยและประเทศอื่นๆ รังนกหรือน้ำลายนกนางแอ่นมีชื่อเล่นว่า "ทองคำขาว" หรือ "คาเวียร์แห่งโลกตะวันออก" เป็นชื่อที่บ่งบอกว่ารังนกนั้นเป็นของที่มีคุณค่า หายาก และราคาสูง

จากความต้องการรังนกนางแอ่นที่มากขึ้นทำให้เกิดการทำฟาร์มเลี้ยงนกนางแอ่น ในไทยจะแบ่งรังนกได้เป็น 2 ประเภทกว้างๆ คือ "รังนกถ้ำ" คือรังนกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามเกาะแก่งถ้ำต่างๆ และมีการสัมปทานให้คนเข้าไปเก็บ และอีกประเภทคือ "รังนกบ้าน" คือรังนกที่เกิดขึ้นในสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะคล้ายตึกหรือบ้าน มีการเลียนแบบและเตรียมสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการให้นกเข้าไปอาศัยอยู่และทำรัง  

ที่มาภาพ: http://bit.ly/2h4DcRO

จุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์การนำเข้ารังนกของจีน

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ตลาดจีนได้เกิดวิกฤตรังนกเลือด (รังนกสีแดง) การตรวจพบสารไนเตรทปนเปื้อนที่เกินค่ามาตรฐานในรังนกแดงที่นำเข้าจากอาเซียนส่งผลให้ประเทศจีนสั่งห้ามนำเข้ารังนกจากหลายประเทศในเขตอาเซียน ยังผลกระทบมาแก่ผู้ส่งออกรังนกระดับโลกรวมถึงประเทศไทย การกำหนดเงื่อนไขนำเข้าและคุณภาพรังนก รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎเรื่องการนำสิ่งของติดตัวเข้าเมือง มีผู้วิเคราะห์ว่า "ตลาดฮ่องกง" แหล่งบริโภครังนกอันดับต้นๆ ของโลกเริ่มอิ่มตัวไม่คึกคักเช่นเดิม ประกอบกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นมากในจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้โมเมนตั้มการบริโภครังนกมีการเอนเอียงไปทางจีนแผ่นดินใหญ่ เหตุการณ์วิกฤตรังนกเลือดทำให้ผู้ประกอบการรังนกชาวไทย รวมถึงเกษตรกรผู้เก็บรังนก ฯลฯ รายได้หด ตกงาน เดือดร้อนกันเป็นลูกโซ่เลยทีเดียว

รังนกไทยในปัจจุบัน

คุณบรรพต หาญทองคำ ซีอีโอบริษัทบีบีเบิร์ดเนสเทรดิ้ง จำกัด และสมาชิกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่นประเทศไทยให้ข้อมูลว่า ผู้ผลิตและส่งออกรังนกรายใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย สำหรับประเทศไทยคนจีนจะนิยมเดินทางมาเที่ยว บริโภครังนกและซื้อกลับไปยังประเทศตน  

คุณบรรพต หาญทองคำ ซีอีโอบริษัทบีบีเบิร์ดเนสเทรดิ้ง จำกัด

นอกจากเพื่อการบริโภคแล้วรังนกยังถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในสินค้าอย่างอื่นได้อีก เช่น เครื่องสำอาง ซึ่งยังมีอนาคตสดใสในตลาดจีน เนื่องจากเป็นส่วนผสมที่สามารถดึงดูดความสนใจและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคชาวจีนได้ เรื่องคุณภาพของรังนกนั้น แท้จริงแล้วต้องดูแหล่งผลิตหรือที่มาของรังนก ปัจจัยที่จะเป็นตัวชี้วัดคืออาหาร สภาพอากาศ สภาพแวดล้อม การทำอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้นๆ หากแหล่งผลิตมีอาหารอุดมสมบูรณ์ รังนกที่ได้ก็จะคุณภาพดี ในทางตรงกันข้ามหากรังนกนั้นมาจากแหล่งผลิตที่ใกล้กับเขตอุตสาหกรรม คุณภาพของรังนกก็จะด้อยลงตามสภาพแวดล้อม

ส่วนหนึ่งที่ทำให้รังนกไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ไม่เต็มที่เพราะปัจจัยเรื่องกฎหมาย อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อยในการแก้ไขเรื่องนี้ (แต่จะช้ามากก็คงไม่ได้เพราะเพื่อนบ้านของเราก้าวนำไปหลายก้าวแล้ว) และหวังว่าทางรัฐจะเข้ามาช่วยภาคเอกชนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รังนกไทยในมุมมองของชาวจีน

คุณคังคัง ชาวจีนผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าไทยไปจีนแสดงความเห็นว่า เธอได้คลุกคลีกับตลาดนำเข้าส่งออกไทยและจีนมาหลายปี มีประสบการณ์นำเอาสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในกลุ่มชาวจีน เช่น หมอนและที่นอนยางพารา รวมถึงมาร์คหน้าที่มีส่วนผสมของรังนกไทยไปขายที่เมืองจีน ซึ่งตอนนี้เธอหันมาสนใจธุรกิจรังนกพร้อมดื่ม เนื่องจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงมีค่านิยมบริโภครังนกอยู่มาก หลักๆนำเข้ามาจากประเทศทางอาเซียน แต่ในบรรดาทั้งหมดรังนกไทยถูกจัดให้อยู่ในเกรดพรีเมี่ยม คุณภาพดี และราคาสูง

คนจีนนิยมซื้อรังนกเป็นของฝากให้กับสตรีมีครรภ์ เพราะเชื่อในสรรพคุณเสริมสร้างบำรุงร่างกาย ยิ่งตอนนี้จีนผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียว ทำให้จำนวนผู้ที่ตั้งครรภ์มีแนวโน้มสูงขึ้น เอื้อประโยชน์ต่อการทำตลาดรังนกให้แก่ชาวจีน  

คุณคังคังและคุณแจ็ค ชาวจีนผู้ประกอบการธุรกิจด้านรังนกพร้อมดื่มที่ใช้วัตถุดิบจากไทย

อีกปัจจัยหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือวิถีชีวิตของชาวจีนที่เปลี่ยนไป ครอบครัวจีนในเมืองเป็นครอบครัวขนาดเล็ก คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะทำงานหนักและไม่มีเวลาว่างมากพอที่จะมาใช้เวลากับการตุ๋นรังนกหลายชั่วโมง เพราะฉะนั้นรังนกพร้อมดื่มคือคำตอบ สามารถพกไปกินได้ทุกที่ ไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงาน และก็แสนง่าย แค่แกะฝาก็กินได้เลย ลดขั้นตอนยุ่งยากในการตระเตรียม

ด้านคุณแจ็ค หุ้นส่วนบริษัทคาจือกรุ๊ป ผู้ผลิตรังนกพร้อมดื่มที่เน้นกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวชาวจีน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าชาวจีนจะนิยมบริโภครังนกพร้อมดื่มแบบไม่แช่เย็น ซึ่งต่างกับคนไทยที่ต้องแช่เย็นก่อนรับประทาน ส่วนรสชาติ รังนกพร้อมดื่มทั่วไปในตลาดไทยจะค่อนข้างติดหวาน อาจจะหวานไปสักหน่อยสำหรับคนจีน ด้านพฤติกรรมการซื้อคนไทยจะซื้อรังนกในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ หรือเป็นของเยี่ยมไข้ คนป่วย แสดงความยินดี ผิดกับชาวจีนซึ่งจะซื้อในแทบทุกโอกาส และบางคนมองว่าเป็นเหมือนอาหารเสริมที่ช่วยบำรุงร่างกาย บริโภคเป็นประจำสม่ำเสมอ ด้วยความสะดวกสบายและราคาที่ไม่สูงไปต่อการบริโภคหนึ่งครั้งทำให้ผลิตภัณฑ์ประเภทรังนกพร้อมดื่มมาแรงกว่ารังนกแห้งแบบโบราณที่ต้องนำมาผ่านขั้นตอนประกอบอาหารที่กินเวลานานถึงจะรับประทานได้

รังนกไทยในรูปแบบสินค้าฮาลาล

จุดแข็งของประเทศไทยคือการที่เรามีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมทางด้านอุตสาหกรรมฮาลาล (Best Innovation in Halal Industry) จาก Halal Journal ซึ่งเป็นนิตยสารด้านฮาลาลระดับนานาชาติของมาเลเซีย เป็นเครื่องการันตีความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศมุสลิม

ความน่าสนใจและการเพิ่มมูลค่าสินค้าประเภทรังนก นอกจากการแปรรูปเป็นแบบพร้อมดื่มหรือการนำไปเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางแล้ว ธุรกิจอีกแบบที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการทางด้านรังนกคือการทำให้เป็นอาหารประเภทฮาลาล ปัจจุบันมีผู้ประกอบการชาวไทยเข้าไปตีตลาดจีนด้วยผลิตภัณฑ์รังนก น้ำเห็ด และน้ำสมุนไพรบรรจุขวด โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่ 3 เขตที่น่าสนใจของจีนคือ ยูนนาน เสฉวน และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก บางเจ้าที่เน้นตลาดฮาลาลก็แตกไลน์สินค้าทำหลายอย่างไม่ใช่แต่เพียงรังนกพร้อมดื่มอย่างเดียวเท่านั้น  

รังนกพร้อมดื่มที่เพิ่มความแปลกใหม่ด้วยการใส่เก๋ากี้ กุหลาบ และดอกมะลิลงไปในผลิตภัณฑ์

ที่มาภาพ: http://bit.ly/2fkTna9

การเปิดกว้างต่อการนำเข้ารังนกจากต่างประเทศของจีน

รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ประจำเดือนมกราคม 2558 ที่จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองกว่างโจว วิเคราะห์ว่าการบริโภคของชาวจีนเน้นเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากขึ้น ผู้บริโภคชาวจีนเริ่มตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน ด้านหน่วยงานตรวจสอบสินค้าคุณภาพแห่งชาติจีน (AQSIQ) ได้ลงนามข้อตกลงกับไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ว่าบริษัทรังนกแปรรูปที่ส่งเข้ามายังจีนต้องจดทะเบียนโดยคณะกรรมการกำกับการรับรองและอนุญาตเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์แห่งชาติจีน (CNCA) กลุ่มผู้บริโภคหลักในจีนคือผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และผู้หญิงที่มีสุขภาพอ่อนแอ 

เขตนิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย เมืองชินโจว

มาเลย์รุกคืบ - "ชินโจว" ฐานอุตสาหกรรมรังนกครบวงจร

ทางการของกว่างซี ได้วางให้ "เขตนิคมอุตสาหกรรมจีน (ชินโจว)-มาเลเซีย" เป็นฐานแปรรูปรังนกนำเข้าจากมาเลเซีย เป็นผลมาจากกลไกความร่วมมือระดับรัฐบาลของทั้งสองประเทศ กว่างซีคาดหวังให้ชินโจวเป็นฐานของอุตสาหกรรมรังนกแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำเข้า การผลิต ตรวจสอบ วิจัยผลิตภัณฑ์ และโลจิสติกส์ โดยมีภารกิจหลักดังต่อไปนี้ (ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง, 2557)

1) การจัดตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบรังนกและผลิตภัณฑ์อาหารบำรุงสุขภาพระดับประเทศ"

2) การวางแผนจัดตั้ง "นิคมแปรรูปผลิตภัณฑ์รังนก" และกำหนดให้โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งโครงการลงทุนสำคัญ (Key Project) ในเขตนิคมอุตสาหกรมจีน-มาเลเซีย

3) การประชาสัมพันธ์ดึงดูดวิสาหกิจนักลงทุนด้านการค้าและการแปรรูปผลิตภัณฑ์รังนกนำเข้าให้มาจัดตั้งกิจการในพื้นที่นิคมดังกล่าว

4) การจัดตั้งระบบมาตรฐานการตรวจสอบและระบบตรวจสอบคุณภาพย้อนกลับ (Trace Back)

นิคมอุตสาหกรรมนี้สนับสนุนให้ต่างชาติมาลงทุน ไม่ใช่แต่เพียงเฉพาะนักลงทุนที่มาจากประเทศมาเลเซียเท่านั้น หากกฎหมายเรื่องการนำเข้าส่งออกรังนกของไทยมีการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ส่งออก คาดว่าในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นบริษัทรังนกไทยไปตั้งกิจการอยู่ในนิคมแห่งนี้ก็เป็นได้  

ท่าเรือชินโจว

บทบาทของภาครัฐที่เข้ามาช่วยส่งเสริม

กรมปศุสัตว์ไทยกำลังเร่งผลักดันการส่งออกรังนกไทยไปจีน ขณะนี้มีผู้ประกอบการของไทย 2 รายได้ผ่านการลงทะเบียนกับหน่วยงาน CNCA ของจีนแล้ว คือบริษัทสยามรังนก ทะเลใต้ จำกัด และบริษัทสยามรังนกสากล จำกัด พร้อมกันนี้ ยังเร่งผลักดันรังนกแดงให้ผ่านมาตรฐานของจีน โดยจะเชิญ AQSIQ ซึ่งเป็นกระทรวงควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบ และกักกันโรคของจีนมาตรวจขบวนการผลิตรังนกในไทยอีกครั้ง  

ชาวจีนเชื่อว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานรังนกเพื่อสุขภาพและความงาม

ที่มาภาพ: http://bit.ly/2fk4obI

เราจะเห็นได้ว่าตลาดรังนกพร้อมดื่มในจีนยังมีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการชาวไทยเข้าไปแบ่งสัดส่วน จากชื่อชั้นสินค้า ความเชื่อใจไว้ใจที่ชาวจีนมีให้แก่รังนกและประเทศไทย การออกแบบสินค้าให้ตอบสนองความต้องการด้านไลฟ์สไตล์ ความสะดวกสบาย เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องตีให้แตก เพื่อชนะใจผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ อาศัยในเมือง และมีกำลังซื้อ

สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการวางแผนชีวิตของจีน หรือแม้กระทั่งความเข้มข้นของมลภาวะที่ชาวจีนต้องเผชิญอยู่ทุกวัน สอดคล้องกับคุณสมบัติด้านแพทย์แผนจีนของรังนกคือบำรุงสุขภาพผู้อ่อนแอ คงความอ่อนเยาว์ รวมถึงการบำรุงฟื้นฟูปอดอันเป็นอวัยวะหลักที่ต้องกรองฝุ่นของเสียจากการหายใจ

แต่ไม่ว่าสินค้าจะถูกออกแบบมาลงตัวแค่ไหน หรือถูกใจลูกค้าชาวจีนมากเพียงใด ด่านแรกที่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้คือการทำคุณภาพให้ถึงเกณฑ์ที่ทางการจีนต้องการ เพื่อเป็นการกรุยทางไปสู่การเปิดตลาดพญามังกรที่แท้จริง

รายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040