สำหรับวันชาติจีนปี 2560 นี้ที่จีนแผ่นดินใหญ่จะมีวันหยุดยาวติดกันตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม จนถึง วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2560 โดยปรับให้มาทำงานในวันเสาร์ที่ 30 กันยายนแทน และในช่วงหยุดยาวนี้เอง ยังรวมวันสำคัญอย่างจงชิวเจี๋ยหรือวันไหว้พระจันทร์ ที่ไม่ใช่สำคัญแค่การกินขนมและจิบน้ำชาร้อนๆ แต่สำหรับคนจีนเป็นการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของครอบครัว ขณะที่ชาวจีนอีกส่วนหนึ่งเตรียมตัวเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศในช่วงหยุดยาวแบบนี้ ซึ่งเมืองไทยเป็นหนึ่งในสถานที่สุดฮิตของชาวจีน ทำให้ผู้ประกอบการของไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมหาศาลที่จะหลั่งไหลมาในช่วงนี้
วัยรุ่นจีนก็นิยมมาไทยเพื่อเรียนมวยไทย
ที่มาภาพ: ททท.
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ควรจะจับตลาดนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหม่หรือพวกวัยรุ่นที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวเอง เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง มีความเป็นสากล นิยมความแปลกใหม่ และชอบใช้ชีวิตอิสระ ไม่เหมือนกรุ๊ฟทัวร์ที่การล็อกสเป๊กสถานที่กินที่เที่ยวไว้ล่วงหน้าแล้ว คนกลุ่มนี้จึงช่วยกระจายรายได้ได้มาก และจะเป็นกลุ่มหลักที่ไปใช้บริการพวกโฮสเทล รีสอร์ทเล็กๆ หรือโฮมสเตย์เก๋ๆ รวมถึงไปกินดื่มตามร้านข้างทาง
ป้ายบอกทาง 4 ภาษาที่จังหวัดยะลา – ใต้สุดของประเทศไทย
ที่มาภาพ: http://bit.ly/2fynDlj
เบื้องต้นผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวรับมือได้ด้วยการติดป้ายแนะนำสินค้าหรือบอกราคาเป็นภาษาจีน ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องการสื่อสารแล้ว การขึ้นป้ายด้วยภาษาจีนยังมีคุณค่าทางด้านจิตใจ ซึ่งหมายถึงการยอมรับในตัวตนของนักท่องเที่ยวจีน เป็นหน้าเป็นตา แม้แต่การทักทายหรือพูดคุยด้วยภาษาจีนง่ายๆ จะทำให้พวกเขารู้สึกอบอุ่นเป็นกันเองมากขึ้น นับเป็นการสร้างความประทับใจอีกทางหนึ่ง
ดร.เกียรติอนันต์กล่าวอีกว่า เราสามารถใช้ประโยชน์จากการที่จีนเป็นชาติที่นิยมเทคโนโลยี ด้วยการประชาสัมพันธ์ต้นทุนต่ำ อย่างการใช้แอพพลิเคชั่นที่คนจีนชื่นชอบ เช่น Wechat, Dianping หรือ Weibo
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ทำสินค้าประเภทโอทอป ของฝาก ของกินต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ของจีน อย่างคุณจอห์นนี่ – ชนินทร์อุดมศรีรัตน์ แอดมินเพจ "ลุยจีน: Shoot2China" ได้แนะนำเทคนิคสำหรับการขายและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้านักท่องเที่ยวชาวจีน ด้วยการตั้งป้าย QR Code ที่เป็น Wechat ของร้านหรือสินค้าไว้ในบริเวณนั้นด้วย เพื่อสะดวกต่อลูกค้าชาวจีนในการสแกนเพื่อสอบถามข้อมูลหรือสั่งซื้อสินค้าเพิ่มเติม ส่วนผู้ที่ทำร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือโรมแรม อาจจะสร้างตัวตนขึ้นมาใน Dianping ซึ่งคล้ายๆ กับ Wongnai บ้านเรา เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมาเช็คอินเก๋ๆ ช่วยประชาสัมพันธ์ สร้างความจดจำให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ได้อีกทางหนึ่ง
ร้านสะดวกซื้อที่ป้ายมีภาษาจีนแนะนำสินค้ายอดนิยมและมีคิวอาร์โค้ดให้สแกนเพื่ออ่านรายละเอียดสินค้าในรูปแบบภาษาจีน
ที่มาภาพ: ทวิตเตอร์ @doctarm
ร้านค้าปลีกเล็กๆ ที่มีหน้าร้านก็สามารถจับตลาดลูกค้ากลุ่มนี้ได้เช่นกัน ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากออนไลน์หรือจากหน้าร้านจากความสะดวกและความพึงพอใจ ณ ตอนนั้น นั่นหมายความว่าหากนักท่องเที่ยวเดินผ่าน จับต้องหรือได้ชิมสินค้านั้นๆ แล้ว ย่อมมีโอกาสในการซื้อ ณ ที่ตรงนั้นเกิดขึ้นทันที อาจจะเนื่องมาจากบรรยากาศโดยรอบ รสชาติที่ถูกใจ หรือการได้สัมผัสสินค้าด้วยตนเอง ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยที่เร่งปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์การแข่งขันที่สูงขึ้นย่อมมีโอกาสมากกว่า นอกจากจะต้อง "คิดต่างทำต่าง" แล้ว ความแปลกใหม่ทางด้านประสบการณ์ ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ร้านค้าปลีกหรือกลุ่มที่มีหน้าร้านจะลงมาสู้ได้
ร้านสปาไทยที่เปิดให้เช็คอินและเขียนความคิดเห็นจากลูกค้าชาวจีนผ่านแอพพลิเคชั่นDianping
กลยุทธ์สร้างประสบการณ์ที่พึงพอใจและทำให้เกิดความประทับใจในลูกค้าแต่ละราย (Customized Experience) ตัวอย่างเช่น การเป็นคนแรกที่ได้สัมผัส ได้เป็นเจ้าของสินค้า ประสบการณ์ทางด้านอารมณ์หรือความรู้สึกที่มีต่อสินค้า เมื่อเกิดการจดจำแบรนด์หรือประทับใจแล้ว จะเกิดการบอกต่อหรือแชร์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่ง ดร.เกียรติอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่ากลยุทธ์ "การบอกต่อปากต่อปาก" นี่แหละที่ได้ผลและถูกจริตกับผู้บริโภคชาวจีนยุคนี้มากที่สุด
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿