(ภาพจาก : bryanrawls.com)
ปีนี้ตรงกับวันที่เท่าไหร่กันนะ?
เทศกาลไหว้พระจันทร์ (Moon Festival) เวียนมาบรรจบอีกครั้ง สำหรับปีนี้ ตรงกับวันพุธที่ 4 ตุลาคม 2560 หรือตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ถือได้ว่าเป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงงดงามที่สุด เต็มดวงที่สุด และเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญสำหรับคนจีนมากเป็นอันดับที่สองรองจากเทศกาลตรุษจีน ชาวจีนให้ "พระจันทร์" เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง "ความคิดถึง" เมื่อไรที่คิดถึงคนในครอบครัวที่จากบ้านไปไกล ก็ให้แหงนมองและส่งความคิดถึงไปที่พระจันทร์ดวงเดียวกัน
(ที่มา : www.instagram.com/beewooods)
วันแห่งการอยู่พร้อมหน้าครอบครัว
ชาวจีนเชื่อว่า "วันไหว้พระจันทร์" เป็นวันที่คนในครอบครัวจะได้แสดงความสามัคคี และได้ชมดวงจันทร์พร้อมหน้ากัน จึงได้นิยามวันไหว้พระจันทร์ว่า "วันแห่งการอยู่พร้อมหน้าของครอบครัว" ซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง เรียกในภาษาจีนเรียกว่า "จงชิว" แปลว่า "กลางฤดูใบไม้ร่วง" เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานับพันปี
(ภาพจาก : http://chinese2u.blogspot.com)
ประวัติความเป็นมาของเทศกาลไหว้พระจันทร์
ที่มาของเทศกาลนี้ เกี่ยวกับเทพปกรณัมจีน เล่าถึงเรื่องราวของเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ที่ชื่อ "ฉางเอ๋อ" ซึ่งเป็นหญิงคนรักของโฮวอี้ นักยิงธนูแห่งสวรรค์ ที่ใช้ธนูยิงดวงอาทิตย์ดับไปถึง 9 ดวง จากทั้งหมด 10 ดวง ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบัญชาสวรรค์ จึงโดนลงทัณฑ์ให้ไปใช้ชีวิตธรรมดาเช่นคนทั่วไปบนโลกมนุษย์กับฉางเอ๋อ แต่แล้วโฮวอี้ก็ถูกคนสนิททรยศฆ่าตาย ส่วนฉางเอ๋อตัดสินใจดื่มน้ำอมฤตเพื่อที่จะมีชีวิตอมตะ แล้วเหาะกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งตามลำพังด้วยความเศร้าสร้อย
ในยุคของฮั่นเหวินตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่น ได้ทรงพระสุบินว่า พระองค์ลอยขึ้นไปเที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบกับฉางเอ๋อกำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม ในสุบินนั้น พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมและโปรดให้สุบินนั้นเป็นความจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาฉางเอ๋อที่พระองค์ได้พบเจอมา จนต่อมาแพร่หลายไปสู่ราษฎรและเป็นประเพณีสืบมา ซึ่งในอดีต ชาวจีนโดยเฉพาะหญิงสาวจะสวดขอพรจากฉางเอ๋อเพื่อที่ขอให้มีความเยาว์วัยและงดงามตลอดไปดุจดังเทพธิดาแห่งดวงจันทร์
(ที่มา : http://adicecei.com)
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับขนมไหว้พระจันทร์
"ขนมไหว้พระจันทร์" เป็นขนมที่ทำขึ้นเพื่อเซ่นไหว้ดวงจันทร์ ลักษณะของขนมมีทรงกลม ลักษณะคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้งนวด แล้วกดใส่แป้นพิมพ์ที่มีลวดลายต่าง ๆ จากนั้นนำไปอบ และเคลือบผิวหน้าด้วยน้ำเชื่อม ภายในบรรจุไส้ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธัญพืช อาทิ เมล็ดบัว, แมคคาเดเมีย, พุทราจีน เป็นต้น
ความเป็นมาของขนมไหว้พระจันทร์ เล่ากันว่า ในยุคปลายราชวงศ์หยวน ที่ชาวฮั่นถูกปกครองอย่างกดขี่โดยชาวมองโกล เมื่อชาวฮั่นต้องการจะก่อกบฏ จึงแอบนัดแนะกันโดยสอดสาส์นไว้ในขนมชิ้นนี้ แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับทุกบ้าน ซึ่งมีข้อความว่า "คืนนี้ในเวลายาม 3 จงสังหารทหารมองโกลพร้อมกัน" เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งเอกราชของชาวฮั่น จนกลายเป็นประเพณีการรับประทานและไหว้ขนมไหว้พระจันทร์ในปัจจุบัน
ผู้ผลิตขนมไหว้พระจันทร์จำนวนมากได้มีการเพิ่มรสชาติไส้ขนมตามสมัยนิยม เช่น ไส้ชาเขียวถั่วแดง ทุเรียนหมอนทอง เกาลัด แครนเบอรี่ ลอดช่อง ขนุน ทิรามิสุ หรือดัดแปลงไปเป็นรูปแบบประยุกต์ เช่น ขนมโมจิ หรือไอศกรีม ทำให้ "ขนมไหว้พระจันทร์" กลายมาเป็นธุรกิจสำคัญที่มีมูลค่าการตลาดและการแข่งขันสูงมากในช่วงเทศกาลนี้ในแต่ละปี
ภาพรวมของตลาดขนมไหว้พระจันทร์ไทยในปี 2560
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำวิจัยเรื่องภาพรวมตลาดขนมไหว้พระจันทร์ประจำปี 2560 พบว่า กลุ่มคนที่ซื้อยังคงเป็นกลุ่มหลักคือ "กลุ่มที่ซื้อไปไหว้" ซึ่งจะซื้อเท่าที่จำเป็น และกลุ่มที่ซื้อไปกินและเป็นของฝาก โดยส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น โดยในปีนี้ผู้ประกอบการ ยังคงมีการพัฒนาไส้ของขนมไหว้พระจันทร์ รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงเพื่อช่วยกระตุ้นตลาดให้มีสีสันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในตลาด รวมถึงผู้ประกอบการบางรายที่นำเข้าขนมไหว้พระจันทร์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาด เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทำให้ปีนี้สภาพตลาดมีการแข่งขันสูงพอสมควร
ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ที่ระมัดระวังมากขึ้น
จากการสำรวจพฤติกรรมการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ของคนไทยโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ปีนี้คนไทยยังระมัดระวังการใช้จ่ายพอสมควร ประกอบกับการปรับราคาจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-10% อันเป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมในการผลิตไส้ขนมไหว้พระจันทร์ ได้แก่ทุเรียนที่ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่เห็นว่าราคาขนมไหว้พระจันทร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากมีถึง 26% และเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้ซื้อบางส่วน หรือเกือบ 1 ใน 3 ปรับลดปริมาณการซื้อลง โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ไม่สูงมากนัก
ภาคธุรกิจซื้อฝากลูกค้า รักษาความสัมพันธ์
ภาคธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างชัดเจน อาทิ ธุรกิจส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยว ที่อาจมีคำสั่งซื้อขนมไหว้พระจันทร์ฝากลูกค้าองค์กร เพื่อสร้างความสัมพันธ์และคืนกำไรให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้มีปริมาณการซื้อ รวมทั้งราคาเฉลี่ยต่อหน่วยค่อนข้างสูง ซึ่งช่วยขับเคลื่อนตลาดขนมไหว้พระจันทร์ได้พอสมควร
(ข้อมูลจาก : kr.news@kasikornresearch.com)
มูลค่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์ทรงตัวเทียบเท่ากับปีก่อน 900 ล้านบาท
เมื่อพิจาณาทางด้านฝั่งของผู้ซื้อ พบประเด็นที่น่าสนใจคือ ปริมาณและมูลค่าการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ในกลุ่มคนที่ซื้อไปไหว้มีแนวโน้มปรับลดลงตามจำนวนคนรุ่นก่อน แต่กลุ่มนี้มีจุดเด่นคือปริมาณการซื้อจะคงที่ ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากได้มีการปรับปริมาณการซื้อไว้เท่าที่จำเป็น
สำหรับอีกกลุ่มที่เติบโตค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมาคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Y ที่มีจำนวนรวมกันถึงกว่า 13 ล้านคน กลุ่มนี้มีพฤติกรรมความต้องการความแปลกใหม่ของสินค้า และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายอื่น หากสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้มากกว่า
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า คนรุ่นใหม่บางส่วนก็พร้อมที่จะลดการซื้อสินค้าลงทันที หากกำลังซื้อไม่เอื้ออำนวย และสินค้านั้นสามารถปรับลดการซื้อได้ ส่งผลให้ภาพรวมตลาดขนมไหว้พระจันทร์อาจไม่คึกคักหากปีใดมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในกลุ่มนี้
สำหรับในส่วนของฝั่งผู้ประกอบการนั้น ปัจจุบันมีผู้สนใจก้าวเข้ามาในตลาดขนมไหว้พระจันทร์เพิ่มขึ้น เนื่องจากระยะเวลาจำหน่ายที่สั้นประมาณ 1 เดือน แต่มีมูลค่าตลาดสูงถึงเกือบ 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าในประเทศและผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งก็มีผู้ประกอบการหลายรายที่ได้รับการตอบรับจากตลาดพอสมควร
เหตุผลที่ผู้บริโภคอยากซื้อขนมไหว้พระจันทร์
- โปรโมชั่นตรงใจ
- ชื่อเสียงของผู้ประกอบการที่ทำให้ผู้ซื้อเชื่อมั่นว่าสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ
- บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม
เทศกาลอันสวยงามที่ 1 ปี มีเพียง 1 ครั้ง ไม่ว่าจะซื้อเพื่อนำไปเซ่นไหว้ดวงจันทร์ หรือเพื่อเป็นของกินของฝากล้วนมีคุณค่าทางจิตใจเสมอ และยิ่งปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายและสวยงามตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ด้วย ยิ่งเร่งให้เกิดการซื้อมากขึ้น
ยุพินวดี คุ้มกลัด เรียบเรียงและรายงาน
---------------------------------
อ้างอิง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย / KR.NEWS@kasikornresearch.com / Current Issue ปีที่ 23 ฉบับที่ 2870