旅游/泰国/泰中记协座谈
|
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2560 สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนจัดงานเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ "ท่องเที่ยวไทย-จีน โอกาสโตอย่างยั่งยืน" ณ ห้องสัจจา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีผู้สื่อข่าวไทยและจีน รวมถึงนักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงานจำนวนร่วมร้อยคน
เริ่มเปิดงานด้วยการขึ้นกล่าวโดยคุณชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ค้ำจุนเศรษฐกิจไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนที่ครองอันดับหนึ่งในตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ วัตถุประสงค์ของงานในวันนี้คือเพื่อให้สังคมได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น เตรียมพร้อมรับมือต่อการเติบโตและทราบผลกระทบที่จะมีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย รวมถึงร่วมกันอภิปรายถึงแนวทางในการร่วมมือกันเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างยั่งยืน
การเสวนาได้ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากด้านเศรษฐศาสตร์การธนาคาร ตัวแทนมัคคุเทศก์อาชีพ นักวิชาการและผู้อำนวยการด้านการท่องเที่ยวจากจีนเข้าร่วม และได้รับเกียรติจากคุณภูวนารถ ณ สงขลา อุปนายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนเป็นผู้ดำเนินการเสวนา
รศ.ดร. เลิศพร ภาระสกุล นักวิชาการด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้ข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ในฐานะนักวิชาการ การท่องเที่ยวมีผลทั้งในด้านบวกและลบ เวลาพูดถึงยั่งยืน ไม่ควรมองมิติเดียว คือรายได้หรือตัวเลข แต่ควรมอง 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมถึงสังคมและวัฒนธรรม มีการวิจัยเรื่องสำคัญที่ทางฝ่ายรัฐบาลไทยต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังคือจำนวนเงินที่นักท่องเที่ยวจีนเอามาใช้จ่ายจะตกอยู่ในไทย 100 % หรือไม่อย่างไร พร้อมยกตัวอย่าง หากนักท่องเที่ยวเข้ามานอนในโรงแรมที่มีเจ้าของเป็นต่างชาติ เท่ากับว่าเงินก็ไม่ได้เข้ากระเป๋าคนไทยทั้งหมด หรือมาซื้อของยี่ห้อที่เป็นของต่างชาติ (ครีมทาผิวหรือเครื่องสำอาง) เท่ากับว่าไม่ได้อุดหนุนคนไทยอย่างแท้จริง จุดนี้เป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วย
ด้านคุณนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารTMB เปิดเผยว่า รายได้ประมาณ15% ของเศรษฐกิจไทยมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักท่องเที่ยวจีนหายไปช่วงไหนตัวเลขก็ลดตาม พร้อมเน้นย้ำว่าทั้งเจ้าบ้านและนักท่องเที่ยวเองก็ต้องปรับตัวทั้งสองฝ่าย คนไทยต้องอย่าลืมว่านักท่องเที่ยวจีนคือลูกค้า ส่วนเรื่องวัฒนธรรมก็ต้องปกป้องไว้ในขณะที่เราเองก็ต้องมีกินมีใช้ด้วย โจทย์ที่ท้าทายเราตอนนี้คือ "ทำอย่างไรถึงจะได้นักท่องเที่ยวจีนที่มีคุณภาพ" หากดูจากสถิติจะพบว่าในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยมีคนรวย (รายได้เกิน 60,000 ดอลล่าร์สหรัฐ) อยู่ประมาณ 8% ซึ่งเรียกว่าไม่ได้แย่แต่ยังต่ำกว่านักท่องเที่ยวจากยุโรป สหรัฐ เกาหลี ญี่ปุ่น หากนักท่องเที่ยวที่รายได้สูงเข้ามาได้สัก 20% ก็คงทำให้รายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาก ด้านผู้ประกอบการและทัศนคติคนไทยก็ต้องปรับตัวและดึงดูดคนกลุ่มนี้เข้ามาให้มากขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเรื่องการใช้จ่ายของลูกค้าให้ตรงกับความนิยม เช่น Alipay Wechatpay การใช้ QR code เข้ามาช่วยในการขายสินค้าและบริการ
คุณชาติ จันทนประยูร ประธานสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเมื่อ 60ปีที่แล้ว ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนไทยมีจำนวนไม่มาก ปีละหลักแสนคน แต่ก่อนคนที่จะมีเงินเที่ยวได้คืออเมริกา สมัยก่อนต้องเป็นคนมีเงินเพราะไม่มีสายการบินโลว์คอส แต่ก่อนไทยมีหน่วยงานเดียวคือ "อสท" ที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยวก่อนจะมีการแบ่งแยกส่วนดูแลการตลาดและดูแลสถานที่ท่องเที่ยวอีกส่วนหนึ่ง
ด้านคุณจาง ซินหง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนประจำประเทศไทย (CNTA) กล่าวว่าหน่วยงาน CNTA สังกัดรัฐบาลจีนโดยตรง มีหน้าที่หลักคือการดูแลเรื่องการท่องเที่ยวช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมถึงร่วมมือกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ททท สถานทูตจีนในประเทศไทยและตัวแทนกรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจีนให้คนไทยได้รู้จักมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาเน้นหนักเรืองประสานงานนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยมากกว่า เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว CNTA ร่วมมือกับทางไทย จัดตั้งหน่วยประสานงานปราบปรามการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เช่น การต่อต้านทัวร์ศูนย์เหรียญ รวมถึงมีการติดตามบริษัทจีนที่ส่งทัวร์ไปต่างประเทศด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันคือปกป้องและดูแลนักท่องเที่ยวจีนให้เที่ยวอย่างปลอดภัยและมีความสุข นอกจากนี้แล้วยังมีการให้การศึกษาต่อมารยาทในการท่องเที่ยวต่างประเทศแก่นักท่องเที่ยวจีน บริษัททัวร์จีนมีจัดการอบรมให้นักท่องเที่ยวก่อนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงปรับปรุงการท่องเที่ยวแบบ Outbound ของจีนให้มีคุณภาพมากขึ้น
วิทยากรและผู้เข้าร่วมงานต่างมีความเชื่อมั่นว่าขอแค่รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองประเทศใช้ความพยายามร่วมกัน อนาคตของตลาดการท่องเที่ยวในทั้งสองประเทศจะสดใสมากขึ้น การทำข้อมูลวิจัยด้านความชอบและความพึงพอใจก็มีส่วนช่วยอย่างมากในการทำตลาดและปรับกลยุทธ์ให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ที่สำคัญผู้ประกอบการไทยต้องมีทัศนคติที่ดีและพร้อมจะเปิดกว้างต่อวัฒนธรรมที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวให้อยากกลับมาเยือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้เบื่อ
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿
ภาพ: ณจักร วงษ์ยิ้ม