หยวนซื่อไข่ - คนฉลาดก็โดนหลอกได้เหมือนกัน
ณ เมืองจีนเมื่อปี 1915 หยวนซื่อไข่คิดว่าตัวเองสามารถเป็นฮ่องเต้ได้ มีการสร้างเรื่องชี้นำหลายอย่าง เช่น การขุดเจอก้อนหินที่โฮ้วไห่ หรือการขุดเจอหินที่เขียนว่า "ฟ้าลิขิตชีวิต" ที่สุสานบรรพชนของเขา เพราะตามประวัติศาสตร์แล้ว คนจะเป็นฮ่องเต้จะต้องเป็นอาณัติสวรรค์
หยวนซื่อไข่ คนเจ้าเล่ห์ที่ถูกลูกตัวเองหลอกให้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับปลอมแปลง
หยวนซื่อไข่ทั้งฉลาดทั้งเจ้าเล่ห์ แล้วใครล่ะที่กล้าหลอกหยวนซื่อไข่คนนี้ได้? เรื่องราวมีอยู่ว่าลูกสาวคนที่3 ของเขาได้เขียนหนังสือเล่าให้ฟังว่าลูกชายคนโต (หยวนเค่อติ้ง) เคยปลอมเนื้อหาหนังสือพิมพ์ให้หยวนซื่อข่ายอ่าน ใจความสื่อว่ามีคนสนับสนุนให้หยวนซื่อไข่เป็นฮ่องเต้ ซึ่งก็ทำให้เจ้าตัวพออกพอใจยิ่งนัก
มีวันหนึ่ง ลูกสาวคนนี้วานคนรับใช้ให้ซื้อถั่วมาให้ ในถุงห่อถั่วเป็นหนังสือพิมพ์ "ซุ่นเทียนสือเป้า" ที่เจ้าของเป็นญี่ปุ่น นางก็หยิบถั่วเข้าปาก มือก็พลิกถุงอ่านไปเรื่อย เอ๊ะ อ่านไปมาทำไมไม่เหมือนกับที่เคยอ่าน
ไปถามน้องจึงพบว่าลูกชายคนโตเป็นคนทำ นางกล้าหาญมากนำเอาไปเล่าให้พ่อฟัง พ่อก็โกรธลูกชายมาก เอาแส้เฆี่ยน ข้อหาหลอกลวงพ่อ ผิดต่อประเทศชาติ
มาดูอีกด้าน เมื่อไปหาอ่านประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์จีน มีเรื่องราวคล้ายๆกันคือมีคนปลอมหนังสือพิมพ์ และคนที่ปลอมนั้นก็แซ่หยวนเหมือนกัน บางบันทึกก็ระบุว่าเจ้าแซ่หยวนคนนี้แหละที่ไปหลอกหยวนซื่อไข่
เรื่องราวนี้เราไม่ทราบว่าจริงหรือไม่กันแน่ แต่ก็มีคนสันนิษฐานว่านางอาจจะจำสลับกันหรือไม่ก็ไม่ถูกกับพี่ชายคนโตก็เป็นได้
เกร็ดเกี่ยวกับหงโหลวเมิ่ง - หนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน
"หงโหลวเมิ่ง –ความฝันในหอแดง" ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นดั่งสารานุกรมจีน คนเขียนคือเฉาเซี่ยะฉิน
ตาเฉาเซี่ยะฉินเกลียดฮ่องเต้หย่งเจิ้งมาก เพราะตระกูลเฉาถูกหย่งเจิ้งทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด
เท้าความสักนิด แต่ก่อนตระกูลเฉาสนิทกับคังซี บ้านนี้เลยได้รับราชการถึง 3 รุ่นติดกัน มาถึงช่วงเขาแย่งราชสมบัติกัน ตระกูลเฉาถือหางองค์ชายเก้าแต่ฟ้าไม่เข้าข้าง ดันเป็นหย่งเจิ้งหรือองค์ชายสี่ได้ขึ้นครองราชย์ซะงั้น ฐานะของตระกูลเฉาตอนนั้นก็เลยซวนเซ แทงหวยผิดข้างกลับตัวก็ไม่ได้ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง
มีคนสงสัยว่าเฉาเขียนเรื่อง "หงโหลวเมิ่ง" นี้ที่ไหน? ช่วงแรกคนเดากันว่าว่าเขียนที่วังองค์ชายกง (กงหวังฝู่) เพราะสวนที่เขาบรรยายในนิยายมีลักษณะคล้ายกับสวนในกงหวังฝู่ แต่สุดท้ายคนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า เขาเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ตอนที่ไปพำนักพักพิงแถวหมู่บ้านกองธงขาว บ้านเฉาเซี่ยะฉินที่ปักกิ่งอยู่แถวไห่เตี้ยน เป็นบริเวณที่ครอบครัวกองธงขาวพักอยู่รวมๆกัน
ซูสีไทเฮาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของวรรณกรรมหงโหลวเมิ่ง จะดูได้จากพระนางจะแต่งห้องนอนตามที่บรรยายในหนังสือ ชอบมากถึงกับท่องได้แทบทุกตัวอักษร มากไปกว่านั้นมีคนบอกว่าพระนางจินตนาการว่าตนเองเป็นท่านย่าในหงโหลวเมิ่ง
เมื่อทราบว่าซูสีไทเฮาท่านหลงรักหลงโหลวเมิ่งขนาดนี้ พวกขุนนางก็อยากเอาใจขนาดว่าจัดทีมบัณฑิตมาคัดลายมือตามวรรณกรรมเรื่องนี้ทั้งเรื่องมอบให้แก่ซูสีไทเฮา และเป็นดั่งที่คาด ท่านก็โปรดปรานของกำนัลชิ้นนี้มากๆ เสียดายที่วรรณกรรมฉบับคัดลอกด้วยลายมือบัณฑิตในราชสำนักที่ว่านี้ได้สูญหายไปไม่มีคนหาพบอีกเลย
คนเล่าก็ตั้งใจเล่า คนฟังก็ตั้งใจฟัง
ปักกิ่ง: เมืองแห่งนาจาแปดกร
เมืองใดที่ประเทศจีนได้ชื่อว่า "เมืองแห่งนาจาแปดกร" (八臂哪吒城) คำถามอิงตำนานแบบนี้หลายคนคงตอบไม่ได้ ทราบไหมว่ามีตำนานความเชื่อที่ว่าเมืองหลวงของจีนคือมหานครปักกิ่งสร้างตามเทพนาจาแปดกร เรื่องนี้เป็นตำนานเก่าแก่มาก เก่าขนาดที่ว่าหากไปถามคนปักกิ่งรุ่นใหม่ก็อาจไม่รู้เรื่องเสียแล้ว
ตำนานเล่าว่าฮ่องเต้มีพระดำริต้องการสร้างเมืองที่เป็นที่ตั้งของปักกิ่ง (ปัจจุบัน) แต่มีแต่คนคัดค้านว่าทำเลไม่ดี ฮวงจุ้ยไม่เหมาะ บังเอิญว่ารัชสมัยฮ่องเต้นั้นมีแม่ทัพชื่อ "หลิวเป๋าเวิน" กับ "เหยาก่งเสี้ยว" ซึ่งสองคนนี้เป็นแม่ทัพคู่กัด ต่างคนต่างเสนอตัวว่าจะช่วยสร้างเมืองขึ้นมาให้ได้ พอทั้งสองเดินทางไปดูสถานที่จริงก็ถึงกับกุมขมับเพราะแลว่าจนปัญญา ท่าจะสร้างเมืองได้ยากมากๆ
ในขณะที่นั่งคิดนอนคิดว่าจะสนองราชโองการอย่างไรดี พอเข้าวันที่สามมีเสียงเด็กลอยมา "ว่าตามร่างข้าก้อสำเร็จแล้ว" ตอนแรกแม่ทัพก็ว่าสงสัยจะหูฝาก แต่พอวันต่อมาก็ได้ยินอีก แม่ทัพก็วิ่งออกไปดู เห็นเด็กคนหนึ่งลักษณะเหมือนนาจาแปดกร เลยเข้าใจว่าเทพมาช่วย เขาเลยวาดผังเมืองเป็นเทพนาจาแปดกร
หลิวเป๋าเวินเอาเรื่องที่ตนประสบไปเล่าให้คู่กัดฟัง ด้านเหยาก่งเสี้ยวก็ตื่นเต้นว่าได้ข้อมูลมาเหมือนกัน แต่หมั่นไส้ก็เลยถามว่าจะเป็นนาจาแล้วมีตับไตไส้พุงไหม หลิวเป๋าเวินกล่าวว่าไม่มีตับไตจะมีชีวิตมาปราบมังกรได้อย่างไร เขาเลยมีการวางตำแหน่งจุดสำคัญๆที่เป็นเครื่องใน สิ่งสำคัญที่สุดคือ "หัวใจของนาจา" ซึ่งตอนนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของปักกิ่งที่ใครต่อใครก็ต้องไปเยือน นั่นก็คือ "กู้กงหรือพระราชวังต้องห้าม" สุดท้าย การสร้างเมืองตามพระบัญชาสำเร็จลุล่วงได้ดีเพราะนาจาได้ปราบมังกรที่อยู่ใต้แผ่นดินและปักกิ่งก็ได้เจริญรุ่งเรืองมีฐานะเป็นเมืองหลวงของจีนมาจนกระทั่งทุกวันนี้
สิงโตอาภัพ ณ กู้กง ที่เต้ากวงฮ่องเต้เกลียดขี้หน้า
สิงโตที่ว่าไม่ใช่สัตว์แต่เป็นเครื่องประดับตกแต่งรูปสิงโตหิน
มีเรื่องเล่าว่าเต้ากวงฮ่องเต้ไม่ชอบสิงโตตัวหนึ่งที่ประดับอยู่ ณ สะพานต้วนหวงเฉียว หากมีเหตุจำเป็นที่ต้องเดินผ่านจริงๆ จะให้ทหารเอาผ้าแดงไปคลุมไว้
สิงโตตัวที่ว่านี้ ทำท่าทางแปลกๆ เหมือนกุมหัว ว่ากันว่าเป็นท่าเดียวกับที่ลูกของเต้ากวงฮ่องเต้ทำก่อนตาย และนี่เป็นสาเหตุที่เต้ากวงไม่ชอบเมื่อต้องเดินผ่านเจ้าสิงโตอาภัพตัวนี้ นัยว่าตอกย้ำให้สะเทือนพระทัยทุกครั้งที่เห็น มันเจ็บจี๊ดๆ ทรวงใน
เล่ากันว่าในสมัยเต้ากวงฮ่องเต้ มีไทจื่อหรือองค์ชายอยู่องค์หนึ่งชื่ออี้เหวิน พื้นฐานเป็นคนขี้เกียจ เวลาไปเรียนก็พูดจาไม่ดีใส่อาจารย์ ท่านอาจารย์เลยไปฟ้องฮ่องเต้ เต้ากวงฟังแล้วก็พิโรธรีบเรียกอี้เหวินมาต่อว่าแล้วเตะเข้าที่ท้องด้วยอย่างจัง อาจจะเป็นจังหวะบังเอิญพอดี อี้เหวินดันล้มลงเป็นลมตาย เรื่องนี้ทำให้เต้ากวงเศร้าโศกเสียใจมากว่าทำลูกตนเองตาย
และเจ้าสิงโตหินที่สะพานก็ทำท่าเจ็บปวดเหมือนอี้เหวินก่อนตาย จักรพรรดิเลยไม่ปรารถนาจะเห็นภาพสะกิดใจนี้ซ้ำอีก
ตำนานสองมังกรคุกเข่าให้ขุนนาง
ที่มาของตำนาน "สองมังกรคุกเข่าให้ขุนนาง" (双龙跪臣) เกิดขึ้นที่สถานที่เรียนของฮ่องเต้ในสมัยก่อน
ราชครู "ตู้โส่วเถียน" รับหน้าที่สอนองค์ชายสี่ แต่องค์ชายสี่ไม่ตั้งใจเรียน ฮ่องเต้เต้ากวง (อีกแล้ว) ไปเจอเข้า ควันออกหูโกรธราชครูตู้ที่มาว่าลูกตัวเอง (น่าจะบวกกับที่ไปเตะอี้เหวินตายด้วยเลยออกจะสปอยลูกสักหน่อย) จึงพูดออกไปว่า "เรียนหนังสือก็เป็นฮ่องเต้ ไม่เรียนก็เป็นฮ่องเต้ แผ่นดินนี้ได้มาจากหลังม้า"
ตู้โส่วเถียนได้ยินแล้วหาได้กลัวเกรงไม่ โต้ตอบกลับไปว่า "เรียนหนังสือถึงจะเป็นกษัตริย์ผู้ปรีชา ไม่เรียนก็เป็นกษัตริย์ไม่เอาไหน จะปกครองบ้านเมืองก็ต้องลงจากหลังม้ามาอยู่ดี"
ฮ่องเต้พอได้ฟังแล้วสติมาปัญญาเกิด รีบจูงมือลูกชายไปคุกเข่าให้ตู้โส่วเถียน ฝากเนื้อฝากตัวกับอาจารย์ และในเวลาต่อมา ก็เป็นตู้โส่วเถียนนี่แหละเป็นตัวหลักส่งให้องค์ชายสี่ได้เป็นเสียนเฟิงฮ่องเต้ เรียกได้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จขององค์ชายสี่เพราะมีครูดีนี่เอง
เหตุผลที่เต๋อหลิงต้องออกจากวัง
"เต๋อหลิง" เป็นชื่อของลูกสาวทูตที่เคยไปรับใช้ซูสีไทเฮา นางเป็นคนเก่ง เฉลียวฉลาดและแท้จริงแล้วมีเชื้อสายฮั่นไม่ใช่แมนจู
ช่วงที่ซูสีไทเฮาเริ่มนิยมฝรั่ง เต๋อหลิงถูกเรียกตัวเข้ามารับใช้ได้ 2 ปีแล้วก็ต้องออกจากวังไป ในหนังสือที่นางเขียนเล่าว่าทูลลาออกมาเพราะพ่อไม่สบาย คนจีนช่างเผือกช่างแซะก็ไปคุ้ยประวัติศาสตร์ เจอบันทึกในไดอารี่ของเจ้าตัวว่านางไม่ชอบอยู่ในกรอบ ถึงแม้นางไม่ใช่พระแต่ก็อยากจะกระโดดข้ามกำแพงวังออกมาตลอดเวลา
ผู้ฟังตั้งใจฟังสมชายจิวเล่าเรื่องราวของเต๋อหลิง-คนสนิทของซูสีไทเฮา
เหตุผลที่เต๋อหลิงอยู่รับใช้ซูสีไทเฮาได้แค่สองปียังคงเป็นปริศนา มีคนบอกว่าเต๋อหลิงจะโดนบังคับแต่งงานกับใครสักคนที่ซูสีไทเฮาชอบ แต่เต๋อหลิงไม่ได้ชอบด้วย บ้างก็ว่าเต๋อหลิงหน้าเหมือนเจินเฟย (สนมของฮ่องเต้กวางสูที่โดนซูสีไทเฮาจับยัดบ่อไปก่อนหน้านี้) บ้างก็ว่าเต๋อหลิงมีโอกาสได้ไปสอนภาษาอังกฤษให้ฮ่องเต้ แล้วนางยังสวย ฉลาด แถมหน้าเหมือนคนรักเก่า ฮ่องเต้ก็เลยเคลิ้มๆ มีความโน้มเอียงว่าจะชอบ พอซูสีไทเฮาทราบข่าวเลยตัดไฟแต่ต้นลม แต่คงยังพอมีบุญอยู่บ้างเลยแค่ออกจากวังไป ไม่ต้องไปนอนอยู่ในบ่อน้ำเหมือนพระสนมเจิน
--------------------------------------------------
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿
ภาพ: ณจักร วงษ์ยิ้ม