ในประเทศจีน ประวัติศาสตร์การสร้างพระพุทธรูปหินแกะสลักจะย้อนรอยถึงช่วงปลายสมัยตุงฮั่นหรือสมัยฮั่นตะวันออก (ราว 1,800 ปีก่อน ) คือพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่จากอินเดียเข้ามาจีน บริเวณตอนเหนือแม่น้ำหวงเหอ เริ่มมีการสร้างวัดถ้ำหิน นั่นคือรูปแบบสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนา ที่ขุดเจาะตามแนวหน้าผาภูเขา
พร้อมๆ กับพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นในจีน ในสมัยราชวงศ์ต่อมา หลายพื้นที่ก็มีการขุดสร้างวัดถ้ำหินจำนวนมาก ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่โตอลังการด้วย
ถ้ำหินหรงเหมินเมืองลั่วหยาง
สมัยราชวงศ์สุยและถังเป็นยุคที่ศิลปะการสร้างพระพุทธรูปหินแกะสลักของจีนพัฒนาถึงขั้นรุ่งโรจน์ที่สุด โดยมีถ้ำหินหรงเหมินเป็นตัวแทน ในสมัยนั้น การสร้างพระพุทธรูปมีการออกแบบที่ละเอียด ฝีกมือการแกะสลักประณีตมาก พระพุทธรูปมีใบหน้าอิ่มเอมและดูใกล้ชิดกับชาวบ้าน กล่าวได้ว่ามีความสมบูรณ์แบบอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ถ้ำหินหรงเหมินสร้างขึ้นตามสองฝั่งแม่น้ำอีเหอเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนานภาคกลางของจีน เริ่มสร้างตั้งแต่สมัยเป่ยเว่ยราวปี ค.ศ.500 และมีการสร้างขนานใหญ่อย่างต่อเนื่องกันกว่า 400 ปี เวลาผ่านไปพันกว่าปี ถ้ำหินบางแห่งพังถล่มหรือถูกทำลาย แต่จนถึงขณะนี้ยังมีถ้ำหินเหลือ 2,345 ถ้ำ พระพุทธรูปหินแกะสลักกว่า 100,000 องค์
การสร้างถ้ำหินหรงเหมินใช้เวลากว่า 400 ปี ในช่วงหลายราชวงศ์ รูปลักษณ์พระพุทธรูปหลากหลาย ข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรและโบราณวัตถุจำนวนมาก ทำให้คนปัจจุบันสามารถเห็นถึงวิวัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนาและวัฒนธรรมของจีนโบราณ ปี 2000 องค์การศึกษาวทิยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกได้ประกาศให้ถ้ำหินหรงเหมินเป็นมรดกโลก
(In/Lin)