7. คนไทยมีความกังวลต่อการที่จีนเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศไหมครับ? คุณชัยวัฒน์มองว่า การที่รัฐบาลจีนพยายามบรรลุความทันสมัยทั้งในด้านการป้องงกันประเทศก่อนปี 2035 และสร้างสรรค์กองทัพระดับเอกของโลกให้สำเร็จในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 นั้น จะเป็นผลดีต่อการคุ้มครองสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคและของโลกไหมครับ?
ตอบ : สงครามคือการทำลายล้างคือการเข่นฆ่ากันด้วยอาวุธซึ่งมีแต่ความสูญเสีย หากเกิดสงครามไม่ใช่แค่สองฝ่ายที่จะแพ้-ขนะ แต่จะส่งผลต่อประเทศข้างเคียงรวมถึงนานาประเทศด้วย ลองดูสิครับว่าวันนี้แค่เกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาขู่กันไปมาโลกเราก็อยู่กันไม่เป็นสุขแล้ว เพราะกลัวว่าจะมีการยิงอาวุธนิวเคลียร์ใส่กัน และถ้ายิงกันเมื่อไหร่ ไม่ว่าใครจะยิงใครก่อน ผลคือโลกบรรลัยแน่ครับ
การที่จีนประกาศจะเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศก็ย่อมทำให้โลกเกิดความกังวลแน่นอน เพราะแม้ว่าจีนจะบอกว่าไม่หวังครองโลก ไม่คิดจะเป็นเจ้าโลก รู้อยู่ว่าการพัฒนาอาวุธ พัฒนากองทัพเป็นเรื่องของการถ่วงดุลอำนาจ จริงๆแล้วก็ไม่มีใครอยากจะก่อสงคราม แต่จะไม่ดีกว่าหรือถ้าการเพิ่มงบประมาณนั้นจะเป็นการเพิ่มทางด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา หรือสาธารณสุข ถามต่อไปว่าเมื่อถึงปี 2035 ที่จีนบอกว่าจะพัฒนากองทัพให้เป็นกองทัพชั้นนำของโลก หรือในอีก 18 ปี ข้างหน้านั้น ผมว่าวันนั้นท่านสี จิ้นผิง ก็อายุ 82 ปีแล้ว วันนั้นเราไม่ทราบว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำของจีน วันนั้นเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสหรัฐอเมริกาจะมีนักการเมืองที่คลั่งชาติที่แรงกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ หรือเปล่าที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี หรือเกาหลีเหนือยังเป็นผู้นำคนปัจจุบันหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เราเป็นห่วงครับ
8. บรรดาพรรคการเมืองของไทย ควรเรียนรู้อะไรจากการพัฒนาและการบริหารจัดการพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์จีน?
ตอบ : ประชาธิปไตยของไทยมีอายุถึงวันนี้ 85 ปี ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งมาแล้ว 96 ปี มีฐานสมาชิกวันนี้เท่าที่ผมทราบคือประมาณ 90 ล้านคน พรรคการเมืองในไทยนั้นผมมองว่าเป็นแค่เครื่องมือเข้าสู่เวทีทางการเมือง บางคนเป็นนักการเมืองอาชีพ บางคนเป็นนักธุรกิจ จุดมุ่งหมายของเขาก็เพื่อแสวงหาชื่อเสียง อำนาจ และโอกาสในการหาผลประโยชน์แอบแฝง ส่วนอุดมการณ์ที่แต่ละพรรคประกาศนั้นประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่มองว่าเป็นแค่นามธรรมที่จับต้องไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่มองกันคือเรื่องนโยบายของพรรคการเมือง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ประกาศนโยบายว่าเพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุข อยู่ดีกินดี เพื่อพัฒนาประเทศ เอานโยบายมาหาเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายก็กลายเป็นกับดักทางการเมืองในทางปฏิบัติ เช่นนโยบาย "ประชานิยม" ที่วันนี้ต้องแปลงมาเป็น "ประชารัฐ" ปัญหาอย่างหนึ่งคือนักการเมืองไทยหลายคนเคยศึกษาและพยายามเอารูปแบบการจัดตั้งฐานสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาใช้เพื่อหวังผลทางการเลือกตั้ง แต่เป้าหมายนั้นต่างกันครับ ในไทยนั้นชาวบ้านเขาเห็นกันอยู่ว่าไม่ใช่เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อประเทศชาติ แต่เป็นการทำเพื่อพรรคเพื่อนายทุน ต้องมีการตอบแทนสปอนเซอร์ที่สนับสนุน สุดท้ายก็เลยกลายเป็นว่า พรรคมาก่อน ประชาชนนอนรอต่อไป