ผลสำรวจพบว่าตรุษจีนปีนี้ คนไทยมีแนวโน้มใช้จ่ายมากขึ้น แต่เมื่อแจกแจงลงรายละเอียดแล้ว ผู้คนให้น้ำหนักกับการใช้จ่ายกินเที่ยวและเงินใส่ซองมากกว่าการใช้เงินจับจ่ายไปกับเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเม็ดเงินค่าใช้จ่ายช่วงตรุษจีนของคนกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ประมาณ 13,440 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 4.3 (YoY)
เทรนด์คนซื้อของไหว้ล่วงหน้ามากขึ้น
ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวทำให้ช่วงตรุษจีนในปี 2561 นี้ค่อนข้างคึกคักโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ โดยพฤติกรรมการซื้อของจะเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย จากปกติจะไปจับจ่ายของไหว้ไม่เกิน 3 วันล่วงหน้า ครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนก็จะมีการเตรียมพร้อมกับเทศกาลมากขึ้น โดยทยอยจับจ่ายล่วงหน้ามากถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนเทศกาลเลยทีเดียว เนื่องจากเกรงว่าราคาช่วงเทศกาลจะถีบตัวสูงขึ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัญหารถติด คนเยอะ และการได้ของคุณภาพด้อยลงเนื่องจากความต้องการของตลาดมีสูง
อย่างไรก็ตามธรรมเนียมการให้ซองแดงหรือเงินอั่งเปา ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเงินสดหรือทองคำ ส่วนนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นประมาณ 3,930 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 (YoY) โดยเฉพาะพวกค่าใช้จ่ายทางอ้อมอย่างการไปทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลหรือท่องเที่ยวจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 (YoY) เลยทีเดียว
เม็ดเงินค่าใช้จ่ายช่วงตรุษจีนใน กทม. พ.ศ.2561 แบบแยกประเภทการใช้
กลยุทธ์คือความสะดวกและเน้นคุณภาพ
ที่น่าสนใจคือกลยุทธ์การรับมือของผู้ประกอบการ เนื่องจากแนวโน้มในปีถัดๆ ไปของการใช้จ่ายกับเครื่องเซ่นไหว้จะลดลง เพราะลูกหลานที่ไม่เคร่งครัดประเพณีและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การหยุดช่วงตรุษจีนเพื่อให้ไปจับจ่ายหรือท่องเที่ยวก็จะไม่หยุดยาว บางเจ้าหยุดแค่วันเดียวเท่านั้น หรืออาจจะไม่หยุดเลย เพราะเกรงว่าจะเสียโอกาสในการค้าไป โดยทางผู้ประกอบการต้องเน้นเรื่องความสะดวกสบายมากขึ้นแต่ยังต้องคงคุณภาพให้เหมาะสม ลดขนาดชุดของเครื่องเซ่นไหว้ ปรับอาหารบางอย่างให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ลดจำนวนกระดาษเงินกระดาษทองที่ผู้บริโภคที่อาศัยในเมืองใหญ่หรือคอนโดอาจไม่สะดวกจุดเผาเซ่นไหว้ หรือเปลี่ยนไปดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาในช่วงเทศกาลแทน การปรับเปลี่ยนในแนวทางนี้น่าจะตอบโจทย์กับผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้ดี
ผลสำรวจมุมมองต่อเทศกาลตรุษจีนในระยะข้างหน้า
แนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนในช่วงตรุษจีน
ผลสำรวจของเว็บไซต์ให้บริการด้านท่องเที่ยวยอดนิยมของจีนนักท่องเที่ยวคือ China Tourism Academy และ Ctrip พบว่าต้นปี 2561 นี้ "ประเทศไทย" ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวเลือกเป็นอันดับแรก รองลงมาคือญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ที่ตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีนตัวเลขน่าจะแตะถึง 1.2 ล้านคน รวมสองเดือนแรกขยายตัวเกือบร้อยละ 30 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มที่เข้ามาจะเป็นพวกท่องเที่ยวเอง (FIT) มากถึงร้อยละ 52.0 ส่วนปัจจัยหลักที่สนับสนุน เช่น การทำโปรโมชั่นของห้างสรรพสินค้าที่กระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านระบบ Alipay หรือ Wechat Pay รวมถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวจีนและเกาหลีใต้ยังคงไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนเรื่องเงินบาทแข็งค่านั้น ทางศูนย์ฯมองว่าในระยะสั้นไม่น่ามีผลกระทบมากนัก เพราะเงินหยวนก็แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน
จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยช่วงตรุษจีน(และคาดการณ์) พ.ศ.2559-2561 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
นักวิชาการมองสินค้าไฮเอนด์ตรุษจีนมีโอกาสเพิ่ม แนะนำเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ด้าน ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์เรื่องการคาดการณ์เศรษฐกิจในช่วงตรุษจีนไว้ว่า ของจะดีขึ้นแต่ไม่ได้ดีขึ้นจนทุกคนยิ้มได้และดีขึ้นเฉพาะบางกลุ่ม คือตอนที่เศรษฐกิจฟื้นในปีที่แล้วโตขึ้นร้อยละ 4 เงินลงไปในธุรกิจใหญ่ๆ แค่บางส่วนและลงในคนแค่ไม่กี่กลุ่ม คนเชื้อสายจีนที่มีฐานะค่อนข้างดีอาจจะเพิ่มกำลังซื้อ แต่คนจีนระดับชนชั้นกลางกำลังซื้อคงไม่เพิ่มมาก เพราะฉะนั้นหากมองแง่มุมนี้ร้านอาหารหรือสินค้าจำพวกไฮเอนด์ที่เกี่ยวกับจีนหรือตรุษจีนจะขายได้ดีขึ้น แต่ถ้าไปสัมภาษณ์แถวย่านคนจีนแถวเยาวราชหรือสำเพ็งที่ขายของจะพบว่าทรงๆ ตัวเลขไม่กระโดดขึ้นทันที อาจจะต้องใช้เวลาสักปีสองปี
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำหรับปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยได้ คิดว่าคนจีนที่จะเข้ามาเที่ยวตรุษจีนปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้น ตัวเลขจากปีที่แล้วกำลังซื้อ ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 60,000 – 70,000 บาท ปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นนิดหน่อย ตอนแรกน่าเพิ่มมากกว่านี้ แต่เงินบาทเราแข็งค่า พอเงินบาทแข็งค่า พอมาเป็นเงินบาทเลยอาจจะน้อยลงกว่าเดิม แต่หัวละ 70,000 – 80,000 บาทอาจจะได้อยู่
ตรุษจีนน่าจะเสริมภาคท่องเที่ยวในช่วงนั้นได้ เพราะเป็นช่วงส่งไม้ต่อกำลังดี คนไทยเที่ยวปีใหม่จะหมดแรงแล้ว ตรุษจีนเข้ามาเสริมกำลังให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ต่อไปได้อีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าสรุปในภาพรวม ตรุษจีนปีนี้คงยิ้มมุมปากได้ แต่คงยังยิ้มเต็มที่ไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยทาง SME คงไม่ได้เห็นรอยยิ้มในปีนี้ เพราะคนยังระวังกับเรื่องจับจ่ายใช้สอยอยู่ แต่ถ้าปีนี้โตร้อยละ 4 ปีหน้าโตสักร้อยละ 3 – 4 สัก 2 ปี สภาพเศรษฐกิจจะกลับมา
แหล่งข้อมูล:
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, "ตรุษจีนปีจอ: เม็ดเงินใน กทม. รวม 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่ม 4.3%", ECON ANALYSIS, ปีที่ 24 ฉบับที่ 2898 (9 กุมภาพันธ์ 2561)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, "ต้นปี 2561 นักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยวไทยคึกคัก…คาดทั้งปีจำนวนกว่า 10.4-10.6 ล้านคน",ECON ANALYSIS, ปีที่ 24 ฉบับที่ 2900 (13 กุมภาพันธ์ 2561)
--------------------
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿